แก้ไขการขี้ลืม


เรื่องหลงๆ ลืมๆ ใครว่าจะเป็นเฉพาะกับผู้สูงอายุเท่านั้น กับคนหนุ่มๆ สาวๆ หรือเด็กๆ ก็เป็นกันได้เสมอ และก็เป็นกันอยู่บ่อยๆ ด้วย ไม่เชื่อก็ลองดูว่าเมื่อเช้าคนที่บ้านบอกหรือสั่งอะไรไว้ พอเรามาเรียนหรือทำงาน หลายครั้งทีเดียวที่เราลืมไปเรียบร้อยสนิทเลย ไม่ว่าจะเป็นการฝากซื้อของ การบอกให้กลับมาเพื่อไปทำอะไรต่อ เราก็ลืมกันได้ง่ายๆ และหลังจากที่ได้ทราบสาเหตุว่า ทำไมจึงขี้ลืม กันไปแล้วในบทความที่ผ่านมา คราวนี้เราจะมาดูกันว่าเราจะแก้ไขการขี้ลืมนี้ได้อย่างไรกัน

จะว่าไปแล้วการแก้ไขการขี้ลืมนี้มีหลายอย่าง หากค้นหาและนับกันจริงๆ แล้วอาจจะมีเป็นสิบอย่างเลยก็ได้ แต่ถ้าเราจะนำมาทั้งหมดรวมไว้ สุดท้ายก็อาจจะเกิดปัญหาเดียวกับปัญหาเริ่มแรกนั่นก็คือ เราลืมวิธีที่เราจะต้องใช้แก้ไขการขี้ลืมนั่นเอง แหม ก็จะไม่ให้ลืมได้อย่างไรล่ะคะ เล่นมีเป็นสิบข้อแบบนั้น ดังนั้น Womanandkid เลยเลือกมาเพียง 3 ข้อเท่านั้นที่จะให้เพื่อนๆ ได้เลือกใช้เพื่อแก้ไขการขี้ลืม เพียง 3 ข้อในสถานการณ์ต่างๆ กัน รับรองว่าต้องจำกันไปใช้ได้อย่างแน่นอน มาเริ่มดูกันดีกว่านะคะ

1. มองดูให้ดี

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องมองให้ดีด้วย ก็เพราะการมองไม่ดีจะทำให้เราจำไม่ได้น่ะสิคะ แต่ตอบแบบนี้ก็ยังไม่เข้าใจอีกแน่ๆ เลย สงสัยต้องยกเป็นตัวอย่างดีกว่านะคะ เพื่อนๆ เคยไหมคะที่เราลืมสิ่งของต่างๆ ที่วางเอาไว้ที่บ้าน หรือที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นกุญแจ เครื่องประดับ แฟ้มใส่งาน เป็นต้น และเคยสังเกตอีกไหมคะว่าหลายๆ ครั้งที่เราลืมก็เป็นเพราะว่าเราไม่เคยเห็นมันว่าเราได้วางไว้ที่ไหน เพราะสายตาเรามักจะมองไปที่อื่น ในขณะที่มือก็วางของนั้นไว้ที่ใดที่หนึ่ง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สมองของเราจะไม่ได้เก็บภาพความจำนั้นเอาไว้ได้เลย สุดท้ายก็คือจำไม่ได้ว่าวางไว้ที่ไหนนั่นเอง เทคนิคการมองเพื่อจำนี้ใช้ได้แม้กับการจำคำศัพท์ที่เขียนยากๆ โดยแทนที่จะให้ท่องจำกลับให้ผู้เรียนมองคำเขียนของศัพท์นั้น และจำภาพของศัพท์นั้นไว้ ปรากฏหลายครั้งจากการทดลองว่าจะทำให้ผู้เรียนสามารถจดจำการสะกดได้ดีกว่าการท่องยาวๆ ค่ะ ดังนั้นอย่าลืมนะคะ จะทำอะไรก็มองสิ่งที่เราทำไว้ให้ดีเพื่อสมองจะได้จำภาพนั้นไว้ เป็นการแก้ไขการขี้ลืมที่ง่ายที่สุดดวิธีหนึ่งทีเดียว

2. พูดมันออกมา

วิธีนี้เป็นวิธีโบราณอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเหมือนหรือคล้ายกับการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองก็ไม่ทราบเหมือนกันนะคะ (เพราะท่องแบบนั้นก็จำได้เหมือนกันนี่นะ ส่วนจะนำไปใช้ได้หรือไม่นั้นคงไม่ได้อยู่ในสิ่งที่เราสนใจในตอนนี้) แต่การพูดออกมานั้น ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม จะเป็นการทำให้จิตใต้สำนึกของเราจดจำสิ่งที่เราพูดออกมานั้นได้ เทคนิคนี้ถูกนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน (KYT) โดยการตะโกนเตือนตัวเองว่าจะต้องทำงานให้ไม่เกิดอุบัติเหตุ เราอาจจะดัดแปลงมาใช้กับการเตือนความจำของเราก็ได้นะคะ เช่น พูดดังๆ กับตัวเองว่า "วันนี้ต้องซื้ออาหารสุนัขกลับบ้านด้วย" ถ้าครั้งเดียวไม่พอก็พูด 2-3 ครั้ง ซึ่งเกินกว่าครึ่งจะสามารถแก้ไขการขี้ลืมได้ค่ะ

3. จดเพื่อช่วยจำ

ไม่เหมือนกับสองวิธีด้านบนที่สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ช่วย แต่การจดนี้อาจจะต้องการกระดาษ ดินสอ ปากกา เพื่อการบันทึก จริงๆ แล้ววิธีนี้นับว่าเป็นวิธีที่เรียกว่าดีที่สุดก็น่าจะได้ เพราะนอกจากการมีกระดาษที่จดไว้นั้นแล้ว ในขณะที่เราจด เรามักจะต้องมองกระดาษ ปากกา และตัวหนังสือข้อความที่เราจดนั้น บางคนถึงกับพูดสิ่งที่เขียนลงไปด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งการมองและการพูดนี้ก็จัดอยู่ในสองข้อด้านบนนั่นเอง แหม ทั้งมอง ทั้งพูด ทั้งจดแบบนี้ โอกาสจะลืมก็น้อยลงมาก เลยเป็นวิธีแก้ไขการขี้ลืมที่ดีมากวิธีหนึ่ง (ดังนั้นสำหรับเพื่อนๆ ที่ยังเรียนหรือทำงานที่ต้องจำอะไรมากๆ การจดนี่แหละค่ะที่จะช่วยเราได้มาก)

นอกจากนั้นในสมัยเทคโนโลยีแบบนี้ หลายคนอาจจะใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะ (Smart Phone) ต่างๆ เพื่อช่วยในการจำและเตือนสิ่งที่เราต้องทำ ก็นับว่าเป็นวิธีใหม่ๆ ที่ได้ผลดีในการแก้ไขการขี้ลืม และเป็นการแบ่งเบาภาระของสมองที่จะต้องใช้ในการจดจำสิ่งต่างๆ ไปได้มาก เพื่อจะได้เก็บไว้คิดอย่างอื่นที่ดีกว่า แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าโทรศัพท์เหล่านั้นอาจจะหมดพลังงานไฟฟ้าเมื่อไรก็ได้ ทางที่ดีสำหรับสิ่งที่สำคัญที่ต้องไม่ลืมจริงๆ ก็คือ อาจจะต้องทั้งจดทั้งจำไว้หลายๆ ที่ บางคนอาจจะบอกคนใกล้ตัวให้ช่วยจำ ให้ช่วยเตือน ก็เป็นแก้ไขการขี้ลืมที่ดีอีก หลังจากอ่านบทความนี้ เพื่อนๆ คงสามารถนำไปใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์นะคะ