คุณผู้หญิง (หรือคุณผู้ชายก็ด้วยนั่นล่ะค่ะ ถ้าแอบมาอ่าน) น่าจะเคยได้ยินบทพระะราชนิพนธ์แปล ในรัชกาลที่ 6 (จากต้นฉบับของ วิลเลี่ยม เช็กเปียร์) ดังนี้บ้างนะคะ "ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์ ฤาอุบายมุ่งร้ายฉมังนัก มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี และดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี้ ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ"ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และอิทธิพลของดนตรีที่มีต่อจิตใจของคนเรา ทีนี้หากผู้ใหญ่เอง ได้ยินได้ฟังดนตรีแล้วยังชื่นใจ เด็กเล็กๆ หรือแม้แต่ลูกน้อยทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาล่ะคะ จะเป็นอย่างไรบ้าง จะมีผลหรือไม่อย่างไร ลองติดตามบทความดูค่ะ
จากการศึกษาในทางการแพทย์นั้น พบว่าทารกน้อยในครรภ์มารดา ก็สามารถรับรู้เสียงได้แล้ว โดยเสียงแรกๆ ที่ทารกรับรู้ได้ ก็ไม่ใช่อื่นไกล เป็นเสียงเต้นของหัวใจคุณแม่เองล่ะค่ะ ที่จะเป็นจังหวะคงที่ราวๆ 60-70 ครั้งต่อนาที เสียงประเภทอื่นทารกสามารถได้ยินได้ก็คือ เสียงพูดคุยของมารดากับคนในครอบครัวหรือกับคนอื่น (หรือจะพูดกับตัวเอง พูดกับทรกในครรภ์ ก็ได้ยินนะคะ) ซึ่งถ้าเป็นการพูดด้วยอารมณ์ที่ดี ปนเสียงหัวเราะ ทารกก็ได้ยินไปด้วย ในขณะที่ถ้าพูดในเรื่องที่ไม่ดี เป็นการทะเลาะเบาะแว้ง ทารกน้อยในครรภ์ก็ได้ยินเช่นกันนะคะ
นอกจากนั้น เสียงที่เป็นจังหวะต่างๆ เช่นดนตรี ทารกในครรภ์ก็สามารถรับรู้ได้ และถ้าบอกว่า ดนตรีให้ความสุข ความผ่อนคลายกับผู้ใหญ่อย่างไร ดนตรีก็จะให้ความสุข ความผ่อนคลายให้กับทารกในครรภ์ได้ใกล้เคียงกัน โดยดนตรีประเภทนี้ควรเป็นดนตรีที่มีจังหวะง่ายๆ สบายๆ ไม่เร็วหรือเร่งเร้ามากเกินไป ในบางครั้งถ้าเปิดดนตรีให้ทารกฟังไม่ได้ คุณแม่ที่ร้องเพลงเพราะๆ อาจจะร้องให้ฟังเสียเองก็ได้นะคะ
การเปิดเพลง หรือ ดนตรีเพราะๆ จังหวะสบายๆ ให้ทารกฟัง นอกจากการที่ทารกจะได้ยินเสียงดนตรีแล้ว ตัวคุณแม่เองก็ได้ยินดนตรีไปด้วย ซึ่งก็จะมีผลต่ออารมณ์ของตัวคุณแม่เอง ทำให้รู้สึกเพลิดเพลินสบายใจ และร่างกายของแม่ก็จะหลั่งสารแห่งความสุขคือเอนโดรฟิน เมื่อมีสารนี้มาก ก็จะส่งผลถึงทารกน้อยในครรภ์ จะกระตุ้นให้เด็กมีจิตใจที่ดี มีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านความคิดและการเรียนรู้ มีความฉลาดด้านอารมณ์ที่ดีขึ้นเมื่อคลอดมาเป็นลูกน้อยแสนน่ารักของคุณแม่นะคะ