เทคนิคการค้นหาด้วยกูเกิล


ต้องยอมรับว่า โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไปเยอะมากหลังจากเข้าสู่ยุคของอินเทอร์เน็ต ข้อมูลข่าวสารต่างๆ สามารถแพร่กระจายออกไปได้เร็วมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เรียกได้ว่าเราอาจจะสามารถรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอีกฟากหนึ่งของโลกได้ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที (ลองนึกถึงภาพจากกล้องสดๆ ที่ถ่ายทอดภาพของถนนในฮอลลีวูดให้เราได้ดูกันสิคะ) เว็บไซต์ต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย ทุกๆ หนึ่งวินาทีจะมีเว็บไซต์เกิดขึ้นในโลกนี้นับสิบ นับร้อย เว็บไซต์ ซึ่งก็มีคุณภาพดีมากบ้าง ดีน้อยบ้างแตกต่างกันไป แล้วเราในฐานะของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต จะทราบได้อย่างไรล่ะคะว่า เว็บไหนจะมีสิ่งที่เราอยากอ่าน

โชคดีที่เมื่อหลายปีที่แล้ว มีชายหนุ่มสองสามคนทำโครงงานเล็กๆ เกี่ยวกับการค้นหาเว็บไซต์ต่างๆ ที่น่าสนใจ แล้วนำมาจัดลำดับตามคำที่สนใจนั้น ทำไปทำมากลับกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มพลังให้กับโลกของอินเทอร์เน็ต นั่นก็คือเครื่องมือช่วยค้นหาหรือที่เรียกว่า search engine (เสิร์ช เอนจิ้น) นั่นเอง และหนึ่งในเว็บไซต์ที่เป็นเครื่องมือช่วยค้นหาก็คือ Google (กูเกิล) นั่นเอง แต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่คะว่ามีเทคนิคการค้นหาด้วยกูเกิลอยู่มาก บางอย่างอาจจะเป็นวิธีการที่เพื่อนๆ ไม่เคยใช้กันก็ได้ มาดูกันดีกว่าค่ะว่านอกจากหากันแบบธรรมดาๆ แล้ว ยังมีเทคนิคการค้นหาด้วยกูเกิลที่ก้าวหน้าขึ้นไปอย่างไรบ้าง

1. หาแบบธรรมดา

แบบนี้เรียกว่า นึกคำว่าอะไรก็ใส่ลงไปได้เลย (คำพวกนี้เราเรียกว่า Keyword, คีย์เวิร์ด) เช่น คำว่า รักษาสิว ซึ่งเป็นเรื่องที่เรารู้จักใช้กันโดยทั่วไป แต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่คะว่าหากคำที่ป้อนลงไปนั้นเป็นคำที่ยาวหน่อย คือจริงๆ แล้วประกอบไปด้วยคำหลายคำ เช่น ขี่จักรยานท่องเที่ยวทางไกล กูเกิลจะมองว่าเรากำลังค้นหาเว็บที่มีคำหลายๆ คำมาประกอบกันคือ ขี่ และ จักรยาน และ ท่องเที่ยว และ ทางไกล (เป็น 4 คำแยกกัน) โดยจะพยายามหาหน้าเว็บที่มีคำทั้ง 4 คำมาแสดงให้เรา ลองป้อนคำว่า ขี่ AND จักรยาน AND ท่องเที่ยว AND ทางไกล ลงไปในช่องค้นหาก็ได้ ซึ่งจะเห็นว่าได้ผลการค้นเหมือนกัน นั่นคือกูเกิลมองคำหลายคำเป็น และ หรือ AND นั่นเองค่ะ

2. หาแบบคำไหนก็ได้

อันนี้ต่างจากข้อแรกนิดหน่อย เป็นเทคนิคการค้นหาด้วยกูเกิลโดยการป้อนคำที่เราต้องการหาที่ยาวมากกว่าหนึ่งคำลงไป โดยแยกออกจากกันด้วย OR (หรือ) คราวนี้กูเกิลจะหาหน้าเว็บที่มีคำ คำใดคำหนึ่ง มาแสดงให้เราดูค่ะเช่น ลองป้อนคำว่า ขี่ OR จักรยาน OR ท่องเที่ยว OR ทางไกล ลงในช่องค้นหาดูนะคะ คราวนี้จะได้ผลการค้นหาที่ต่างจากข้อแรกไปมาก คือได้หน้าเว็บที่มีคำว่า ขี่ หรือ จักรยาน หรือ ท่องเที่ยว หรือ ทางไกล คำใดคำหนึ่งออกมาให้เราค่ะ

3. หาแบบแม่นๆ ชัดๆ

ถ้าหาไปหามา แล้วไม่ตรงใจสักที คือจริงๆ แล้วต้องการหาหน้าเว็บที่มีคำๆ นั้นชัดๆ ตรงๆ ไม่ผิดเพี้ยน ไม่ยากเลยค่ะ คราวนี้ต้องใช้เทคนิคการค้นหาด้วยกูเกิลอีกแบบหนึ่งโดยใส่เครื่องหมายคำพูดลงไปด้วยเช่น "ขี่จักรยานท่องเที่ยวทางไกล" คราวนี้กูเกิลจะเลือกแสดงผลเฉพาะหน้าเว็บไซต์ที่มีคำว่า ขี่จักรยานท่องเที่ยวทางไกล แบบตรงๆ ไม่ผิดเพี้ยนออกมาให้เราได้เข้าไปดูกันค่ะ

4. ไม่เอาเว็บที่มีคำหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

บางทีเมื่อเราหาโดยใช้คีย์เวิร์ดที่เราต้องการ แต่กลับได้เว็บไซต์อื่นๆ ผสมมาด้วยจำนวนมากแต่ดูเหมือนว่าเราไม่ต้องการ ทางกูเกิลก็มีเทคนิคการค้นหาที่จะจัดการกับเว็บที่เราไม่ต้องการนั้นได้เช่นกัน โดยการระบุว่าเราไม่อยากเห็นผลลัพธ์ที่เป็นหน้าเว็บที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใด ตัวอย่างเช่น ลองค้นหาคำว่า จักรยานสีแดง ก็คงจะได้เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเพลงจักรยานสีแดงเป็นจำนวนมาก แต่หากเราไม่ต้องการอะไรที่เกี่ยวกับเพลงดังกล่าว ก็สามารถใส่คำว่า จักรยานสีแดง -เพลง ลงไปได้ เครื่องหมายลบ (-) และตามด้วยคำ ซึ่งเป็นเทคนิคการค้นหาด้วยกูเกิลที่บอกว่าเราไม่ต้องการหน้าเว็บที่มีหรือเกี่ยวข้องกับคำคำนั้นออกมาแสดงค่ะ

5. หาเฉพาะในเว็บๆ หนึ่ง

อันนี้เป็นเทคนิคการค้นหาด้วยกูเกิลที่มีประโยชน์ค่อนข้างมาก เช่นในกรณีที่เพื่อนๆ ทราบว่า (หรือจำได้ว่า) หน้าเว็บที่เราต้องการจริงๆ นั้นน่าจะอยู่ที่เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง เราสามารถบอกกูเกิลให้แสดงผลการค้นหาจากเว็บไซต์นั้นเท่านั้นได้ โดยเราสามารถระบุไซต์ (site) นั้นได้ เช่นเราป้อนคำว่า รักษาสิว site:www.womanandkid.com หรือ site:womanandkid.blogspot.com ลงไป ก็จะเป็นการค้นหาหน้าเว็บจากเว็บไซต์ www.womanandkid.com หรือ womanandkid.blogspot.com ที่มีคำว่า รักษาสิว มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันค่ะ (ถ้าหาอะไรไม่พบ นอกจากใช้ช่องค้นหาในเว็บไซต์เองแล้ว เพื่อนๆ ก็สามารถใช้กูเกิลช่วยหาหน้าที่ต้องการในเว็บไซต์ womanandkid ได้เช่นเดียวกันนะคะ)

6. หาไฟล์

นี่ก็เป็นเทคนิคการค้นหาด้วยกูเกิลอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนนักศึกษา รวมถึงผู้ที่ทำงานแล้วโดยทั่วไป ที่ต้องการหาไฟล์จำเพาะบางอย่างที่ไม่ใช่หน้าเว็บไซต์ (ถ้าเราหาตามปกติ กูเกิลจะพยายามหาหน้าเว็บไซต์มาให้เป็นหลัก) เช่น เราอาจจะต้องการได้ผลการค้นหาที่เป็นข้อมูลที่อยู่ในไฟล์แบบ pdf, doc, excel เป็นต้น วิธีการนั้นไม่ยากโดยระบุว่าต้องการผลลัพธ์เฉพาะที่เป็นชนิดของไฟล์ที่ต้องการ เช่น ลองป้อนคำว่า "กูเกิล" filetype:doc ลงในช่องค้นหา เพื่อนๆ ก็จะได้ไฟล์ที่มีคำว่า กูเกิล รวมอยู่ด้วยและเป็นไฟล์ไมโครซอฟท์เวิร์ด เป็นต้น ลองเปลี่ยนเป็น "กูเกิล" filetype:pdf ก็จะได้ไฟล์ที่เป็นอโครแบต pdf ค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะ กับเครื่องมือฟรีๆ ให้เราได้ใช้กันในโลกของอินเทอร์เน็ต คราวนี้เพื่อนๆ ก็จะหาอะไรพบได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้วจริงไหมคะ และก็อย่าลืมนะคะ ถ้าต้องการหาอะไรในเว็บไซต์ www.womanandkid.com หรือ womanandkid.blogspot.com ก็อาจะใช้เทคนิคในข้อ 5 ก็ได้นะคะ น่าจะได้พบกับเรื่องที่เพื่อนๆ อยากอ่านบ้างล่ะค่ะ