มะเร็งปากมดลูกและวิธีป้องกัน


ผู้หญิงเรา มีความเสี่ยงในเรื่องของโรคมะเร็งชนิดหนึ่ง ที่ทางฝ่ายชายไม่สามารถเป็นได้เลยนะคะ (ยกเว้นสาวทอมล่ะค่ะ) ก็คือมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งชนิดนี้ คือการได้รับเชื้อไวรัส HPV (ดูบทความเรื่อง "เชื้อ HPV ต้นเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก" ใน womanandkid.com นี้) ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ที่ได้รับเชื้อ HPV ก็จะหายได้เอง คือร่างกายสามารถจัดการ กำจัดได้เอง แต่มีเพียงราว 10% เท่านั้นที่เชื้อไวรัสนี้สามารถเข้าไปสร้างความผิดปกติให้เยื่อบุปากมดลูก สุดท้ายทำให้เกิดการผิดปกติของการแบ่งเซลล์ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ซึ่งกว่าที่จะเกิดการพัฒนากลายเป็นเซลล์มะเร็งได้นี้ จะใช้เวลาราวๆ 10-15 ปี

ถ้าเราดูที่ตัวเลข ว่าความเสี่ยงมีไม่มาก (10%) แต่จากสถิติ จะเห็นได้ว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งอันดับที่หนึ่งของผู้หญิงไทยเลยค่ะ คือราวๆ 7 คนต่อวัน นับว่าน่ากลัวไม่น้อยเลย

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก

คราวนี้เรามาดูสาเหตุที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกกันบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพอสรุปได้ดังนี้นะคะ
- การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
- การมีคู่นอนหลายคน
- การตั้งครรภ์ หรือมีลูกหลายคน
- มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสหูด (HPV)
- การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานานๆ
- การสูบบุหรี่
- สตรีที่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ที่อาจจะไม่รักษาความสะอาดมากนัก
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- พันธุกรรม มีส่วนอยู่บ้าง
- การขาดสารอาหารบางชนิด

วิธีป้องกัน

ถึงแม้ว่ามะเร็งปากมดลูก จะฟังดูน่ากลัว แต่ก็ยังสามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงลงได้มากนะคะ เราลองมาดูวิธีการป้องกันมะเร็งปากมดลูกกันดีกว่าค่ะ
- ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยที่วิธีนี้จะสามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งลงไปได้อีกประมาณ 70% การฉีดวัคซีนนี้ ถ้าให้ได้ผลดีควรจะฉีดเมื่อมีอายุระหว่าง 9-26 ปีค่ะ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
- กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น
- งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องอับอากาศที่มีคนในห้องสูบบุหรี่เป็นประจำ  เมื่อได้รับควันบุหรี่ สารที่เรียกว่า “ทาร์” หรือน้ำมันดินจะถูกขับออกมาบริเวณปากมดลูกทำให้เกิดการระคายเคืองของปากมดลูก นานเข้าเซลส์เยื่อบุปากมดลูกอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลส์มะเร็งได้
- ทำการตรวจคัดกรองเพื่อหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก (PAP Smear) เป็นประจำทุกๆ ปี

การตรวจ ทำอย่างไร

วิธีที่ดีที่สุดคือรับการตรวจหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 10-20 วัน และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนไปตรวจ เพราะอาจเกิดแผลถลอกภายในทำให้ตรวจไม่ได้เต็มที่ ภายหลังการตรวจอาจมีเลือดออกมาเล็กน้อยค่ะ แต่ถ้าออกไม่หยุดล่ะก็รีบไปหาหมออีกรอบซะนะ โดยที่ในปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้าค่ะ มีวิธีตรวจหาอยู่ 2 วิธีใหญ่ๆ นะคะคือ
1. Pap smear (แพพ สเมียร์)
เป็นวิธีเก่าที่ใช้การป้ายตัวอย่างภายในช่องคลอดมาตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ซึ่งให้ผลแม่นยำ แต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ต้องตรวจในวันที่ไม่มีประจำเดือนมาแน่ๆ ถ้ามีเลือดประจำเดือนเหลือค้างอยู่ก็จะตรวจไม่ได้เลย
2. Thin Prep (ธิน เพรพ)
เป็นวิธีใหม่ ที่มีการศึกษาวิจัยจากสถาบันทั่วโลกพบว่าวิธีนี้ให้ผลละเอียดกว่าการตรวจแบบเก่าประมาณ 65 % โดยจะใช้วิธีขูดชิ้นเนื้อเยื่อภายในปากช่องคลอดไปทำการตรวจ ซึ่งวิธีนี้ จะแม่นยำกว่า และสะดวกกว่าไม่ต้องรอให้เลือดประจำเดือนหมดเกลี้ยงก็ตรวจได้ แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าเล็กน้อย

อาการแบบไหนถึงควรรีบไปตรวจ

มะเร็งปากมดลูกมักพบในสตรีอายุ 45 - 55 ปี แต่ตอนนี้มักตรวจพบมะเร็งปากมดลูกก่อนวัยอันควร และปัจจุบันก็พบในอายุน้อยลง เซลล์ปากมดลูกผิดปกติมักพบในวัยเจริญพันธุ์ หากมีอาการเตือนต่างๆ ดังด้านล่างนี้ ก็ควรเข้ารับการตรวจโดยเร็วนะคะ เพราะอาจจะไม่ได้เป็นก็ได้ เพียงแต่ถ้าไปพบการติดเชื้ออย่างอื่นก็จะได้รับการรักษาให้ถูกต้องได้เลย
1. ตกขาวสีเหลือง มีกลิ่น ปนเลือด
2. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (อาจพบหลังมีเพศสัมพันธ์)
3. ปวดท้องน้อย (พบในกรณีมะเร็งลุกลามเนื้อเยื้อในช่องเชิงกราน)
4. ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด (พบในกรณีมีการลุกลามไปกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย)
5. เบื่ออาหาร ,น้ำหนักลด
6. ขาบวม (มะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง)

การรักษา

ระยะต้นการรักษาสามารถทำได้ง่ายโดยการจี้ด้วยความเย็น, ตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย ซึ่งปัจจุบัน สามารถรักษาได้ แบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องดมยาสลบหรือนอนพักในโรงพยาบาล ถ้าพบในระยะ ท้าย ๆ ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา

มะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้ และหากตรวจพบได้เร็ว ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี เป็นสิ่งที่จำเป็นกับผู้หญิงนะคะ