การลอกผิวด้วยสารเคมี


สาวๆ คงเคยได้ยินคำว่า "ลอกผิว" กันมาบ้าง หรือถ้าเป็นคำที่ชัดเจนกว่าก็คือ "การลอกผิวด้วยสารเคมี" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Chemical Peeling (เคมิเคิล พีลลิ่ง) กันมาบ้างนะคะ สาวๆ ส่วนใหญ่คงพอเข้าใจว่าเป็นการจัดการผิวส่วนนอกเพื่อการทำให้ผิวสวยขึ้น ในบทความนี้ womanandkid จะนำเรื่องลึกๆ ของการลอกผิวด้วยสารเคมีมาเล่าให้ฟังกันอย่างละเอียดกว่าที่ใดๆ เลยล่ะค่ะ

ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องของการลอกผิวด้วยสารเคมี สาวๆ คงต้องรู้จักผิวหนังของเราเองเสียก่อนนะคะ เจ้าผิวหนังนั้นประกอบด้วยชั้นต่างๆ หลายชั้นคือ หนังกำพร้า หนังแท้ โดยที่เซลล์ผิวหนัง ในชั้น หนังกำพร้าจะมีการสร้างขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา การสร้างเซลล์นี้จะเริ่มจากชั้นลึก และจะเคลื่อนจากชั้นลึกขึ้นสู่ชั้นบน หลังจากที่ถูกใช้งานไปได้ราวๆ 15 วัน เซลล์ผิวนอกสุดก็จะตายและลอกออกไปในรูปของขี้ไคล นี่คือสภาพการณ์ตามปกติของการใช้งานผิวหนังของเราค่ะ

การลอกผิวด้วยสารเคมี เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการปรับปรุงสภาพผิวของเรา โดยการใช้สารเคมีที่มีผลทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วหลุดออกจากการเกาะเกี่ยวกันกับหนังแท้ของเรา ซึ่งในที่สุดเจ้าเซลล์เหล่านี้ก็จะลอกออก หลุดไปไกลๆ จากผิวของเรา และเมื่อเซลล์เก่าๆ โดนลอกออกไปแล้ว เซลล์ใหม่ๆ ก็จะต้องถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากด้านล่างเจริญเติบโตปกคลุมขึ้นมา ซื่งเซลล์ใหม่เหล่านี้ก็จะนุ่มนวลกว่า มีรอยเหี่ยวย่นน้อยกว่า ด้วยวิธีการแบบนี้เราเลยเรียกว่า "การลอกผิวด้วยสารเคมี"  โดยในบางครั้งที่ผิวหนังมีการอักเสบจากการใช้สารเคมี เชื่อว่าจะทำให้มีการหลั่งสารหลั่งบางชนิดไปกระตุ้นให้มีการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนในชั้นหนังแท้เพิ่มมากขึ้น

สารเคมีที่ใช้ในการลอกผิวบางชนิดก็สามารถหาซื้อได้ทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตใดๆ แต่บางชนิดนั้นจะมีความรุนแรงสูง ซึ่งควรจะต้องมีการควบคุมการใช้งานโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับผิวพรรณและความงามนะคะ

การลอกผิวด้วยสารเคมีชนิดต่างๆ

1. ใช้กรด AHA ชนิดต่างๆ (เอเอชเอ, Alpha Hydroxy Acids)
กรด AHA นี้เป็นกรดผลไม้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบได้มากในนมเปรี้ยวและน้ำมะเขือเทศ เรียกได้ว่าเป็นกรดที่มีความแรงน้อยที่สุดในบรรดากรดที่ใช้ในการลอกผิวเพื่อแก้ไขปัญหาริ้วรอยเหี่ยวย่นขนาดเล็กๆ ผิวแห้งเป็นหย่อมๆ สีผิวที่ไม่เรียบเนียน และแก้ไขปัญหาสิว ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทำความสะอาดบางชนิดอาจจะผสมกรดชนิดนี้ลงไปด้วยในปริมาณต่ำเพื่อช่วยทำให้ผิวพรรณเรียบเนียนขึ้น
จริงๆ แล้วกรดผลไม้หรือ AHA เหล่านี้ยังแบ่งออกได้อีกหลายชนิดดังนี้ค่ะ
- กรดซิตริก (Citric acid) ได้มาจากผลไม้จำพวกส้ม สับปะรด และมะนาว (โอ้วอร่อยค่ะ) จะลอกผิวได้ง่ายและได้ประสิทธิภาพที่ดี แต่อาจจะต้องทำหลายๆ ครั้งติดต่อกัน
- กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) จะได้มาจากอ้อย ทำหน้าที่ขัดผิวโดยจะพยายามลอกเอาชั้นนอกสุดของผิวหนังออก ปกติจะใช้กันในความเข้มข้นราวๆ 30-70% ถ้าใช้ในความเข้มข้นที่สูงขึ้นอาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ บางทีมีการใส่สารเคมีบางอย่างลงไปด้วยเพื่อลดอาการระคายเคือง แต่สารเคมีเหล่านั้นบางชนิดก็ไม่ได้รับการยอมรับให้ใช้ในเครื่องสำอางได้อย่างปลอดภัยนัก
- กรดแลคติก (Lactic acid) จะได้จากนมเปรี้ยว เจ้ากรดชนิดนี้จะลอกเอาเซลล์ที่ตายแล้วออก และทำให้ผิวมีสุขภาพดีขึ้น
- กรดมาลิก (Malic acid) เป็นกรดที่ได้จากผลแอปเปิ้ล สามารถเปิดรูขุมขนและทำให้บรรดาสิ่งสกปรกอุดตัน เช่นไขมัน ซากเซลล์ที่ตายแล้ว หรือบรรดาเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่หลุดออกมา นั่นคือสามารถบรรเทาแก้ไขอาการสิวได้ด้วย
- กรดทาร์ทาริก (Tartaric acid) เป็นกรดผลไม้ที่ได้จากการสกัดผลองุ่น สามารถใช้ประโยชน์ในการลอกผิวได้เช่นกัน
กรดผลไม้เหล่านี้ที่ใช้ในการลอกผิวจะมีความเข้มข้นประมาณ 1-15% ความเข้มข้นที่น้อยที่สุดที่พอจะทำให้ผิวลอกได้คือประมาณ 4% ส่วนความเข้มข้นที่เกินกว่า 20% ไปแล้วจะต้องให้แพทย์เป็นผู้ดูแลจัดการให้ โดยทั่วไปการลอกผิวด้วยกรด AHA จะไม่ถึงกับแก้ไขปัญหารอยเหี่ยวย่นมากๆ เช่นรอยตีนกาได้ และอาจจะทำให้เกิดอาการแสบ เป็นรอยแดง เกิดอาการระคายเคือง ทำให้ผิวแห้ง และจะต้องทำหลายๆ ครั้งเพื่อให้ได้ผลที่ดีค่ะ

2. ใช้กรด BHA (บีเอชเอ, Beta Hydroxy Acid)
กรดชนิดนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีฤทธิ์อ่อนกว่า AHA แต่ว่าสามารถเข้าทำความสะอาดในรูขุมขนได้ลึกกว่า จากการศึกษาพบว่ากรด BHA นี้สามารถควบคุมความมัน สิว และสามารถกำจัดเซลล์ที่ตายแล้วออกมาได้ดีกว่า AHA เนื่องจากกรด AHA นั้นทำงานเฉพาะที่ผิวด้านบน แต่ BHA ทำงานลึกลงไปในผิวอีก ตัวอย่างของกรด BHA ก็เช่นกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ความเข้มข้นที่ใช้กันอาจจะอยู่ราวๆ 30-50%

3. ใช้สารละลายเจสเนอร์ (Jessner's peeling)
เป็นส่วนผสมที่คิดค้นขึ้นโดยแพทย์ผิวหนังชาวอเมริกัน-เยอรมัน แมกซ์ เจสเนอร์ (Dr. Max Jessner) โดยผสมกรดซาลิไซลิก 14%, กรดแลกติก และรีซอร์ไซนอล (Resorcinol หรือก็คือ dihydroxy benzene) ลงในฐานที่เป็นเอธานอล โดยเชื่อว่าสารละลายนี้สามารถทำลายการเชื่อมโยงกันของเซลล์ระหว่างคีราไทโนไซต์ (Keratinocytes) ต่างๆ เชื่อกันว่าสารละลายนี้จะไม่ทำให้เกิดการลอกผิวที่มากเกินไปเนื่องจากส่วนผสมนั้นเจือจางและไม่รุนแรงนัก

4. กรดเรติโนอิก (Retinoic acid)
กรดชนิดนี้ควรจะใช้โดยผู้เชี่ยวชาญ การลอกผิวด้วยกรดชนิดนี้จะลงไปลึกกว่าการใช้กรด BHA อีก และจะใช้ได้ในการลอกรอยแผลเป็น รอยเหี่ยวย่น สีผิวที่ผิดปกติไม่ราบเรียบออก มักจะใช้ร่วมกับสารละลายเจสเนอร์ (โดยใช้สารละลายเจสเนอร์เพื่อเปิดผิวก่อน) เพื่อให้กรดเรติโนอิกสามารถซึมเข้าไปในผิวได้ลึกลงไปอีก การลอกผิวจะเกิดขึ้นหลังจากทำเช่นนี้ไปได้สามวัน หากมีการลอกผิวซ้ำหลายครั้ง จะทำให้ได้ผลดีขึ้นไปอีก แต่อย่าลืมนะคะ การใช้กรดชนิดนี้จะต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นค่ะ

5. กรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic acid) เป็นกรดที่สามารถซึมลงได้ลึกกว่า AHA แต่ไม่ลึกมากจนเกินไป จะใช้กันที่ความเข้มข้นจาก 20-50% เมื่อความเข้มข้นมากขึ้นก็จะซึมลงไปได้มากกว่า ปกติแล้วไม่ควรใช้ความเข้มข้นเกินกว่า 35% หากไม่ได้ทำด้วยผู้เชียวชาญจริงๆ เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดแผลได้ กรดนี้
- ได้รับความนิยมในการใช้กับผู้ที่มีผิวเข้มมากกว่า ฟีนอล (Phenol)
- ช่วยกำจัดริ้วรอยขนาดเล็กๆ ได้
- แก้ไขปัญหาผิวที่มีเม็ดสีผิดปกติ
- อาจจะต้องใช้ร่วมกับการลอกผิววิธีอื่นเช่นการใช้ร่วมกับครีม AHA
- "ต้อง" ใช้ร่วมกับการใช้ครีมกันแดดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- อาจจะต้องทำหลายรอบสักหน่อยเพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ
- ใช้เวลาหายนานหน่อย อาจจะหลายวันขึ้นกับความลึกในการลอกผิว

6. ฟีนอล (phenol)
สารนี้เป็นอนุพันธุ์ของน้ำมันดิน เป็นสารเคมีที่เรียกว่ารุนแรงที่สุดใช้ลอกหน้าชนิดลึก (deep peels) ดังนั้นแล้วจะต้องได้รับการใช้ด้วยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และผิวต้องได้รับการป้องกันการถูกแสงแดดเป็นอย่างดีระหว่างและหลังจากที่ทำการลอกผิวเป็นระยะเวลาหนึ่ง

เป็นอย่างไรบ้างคะ สาวๆ ได้ทราบว่าการลอกผิวด้วยสารเคมีคืออะไร และได้ทราบว่าสารเคมีต่างๆ ที่ใช้ในการลอกผิวมีอะไรบ้าง (ส่วนมากเป็นกรด ทั้งที่มาจากธรรมชาติและไม่ได้มาจากธรรมชาติ) และระดับความรุนแรงของกรดแต่ละชนิดกันแล้ว ในบทความตอนหน้า womanandkid ได้นำเรื่องระดับต่างๆ ในการลอกผิวมาให้สาวๆ ได้อ่านกันในเรื่อง "ระดับของการลอกผิว" (คลิกที่นี่) ค่ะ