ขับรถลุยน้ำอย่างไรให้ปลอดภัย


ถนนหลายๆ เส้นทางในบ้านเรา เดี๋ยวนี้เริ่มมีน้ำท่วมขังกันนะคะ ไม่ว่าจะมาจากน้ำฝน น้ำไหลหลากจากทางเหนือ หรืออะไรก็ตาม ผู้ขับขี่ที่มีสาวๆ รวมอยู่ด้วยก็ควรมีความรู้ในการขับรถฝ่าเส้นทางที่มีน้ำท่วมขัง เป็นวิชาติดตัวเอาไว้ เผื่อว่าไปที่ไหนจะได้ไม่ต้องมีปัญหากับรถที่ไปต่อไม่ได้

ก่อนลุยน้ำ

ที่จริงแล้ว ข้อแรกของการระมัดระวังเรื่องการขับรถกับน้ำก็คือ พยายามไม่ขับรถลุยน้ำค่ะ โดยระดับน้ำที่รถนั่งส่วนบุคคล (รถเก๋ง) โดยทั่วไปสามารถขับผ่านไปได้คือไม่เกิน 15 เซนติเมตร (ราวๆ หนึ่งไม้โปรแทรกเตอร์) ถ้าสูงกว่านั้นจะต้องระวังทั้งน้ำที่จะเข้าตัวรถ และน้ำที่จะท่วมท่อไอเสีย ก็คือพยายามเลี่ยงไปเส้นทางอื่นจะดีกว่า แต่ถ้าไม่สามารถเลี่ยงได้แล้ว มีข้อระวังดังนี้นะคะ

ขณะลุยน้ำ

1. ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศเด็ดขาด ในขณะขับรถลุยน้ำ สาเหตุที่รถดับ ส่วนใหญ่เกิดจากการเปิดแอร์แล้วขับลุยน้ำนี่ล่ะค่ะ เพราะการที่เราเปิดแอร์ พัดลมสำหรับแอร์จะทำงาน ใบพัดจะพัดให้น้ำกระจายไปทั่วห้องเครื่อง ทำให้เครื่องยนต์ดับได้ หรือแม้เครื่องไม่ดับ ใบพัดก็จะหมุนซึ่งอาจจะไปโดนสารพัดวัสดุขยะที่ลอยมากับน้ำแล้วเข้ามาในห้องเครื่อง ทำให้ใบพัดหักได้ คราวนี้ยุ่งกันใหญ่เพราะทั้งเสียงดัง สั่นสะท้านไปทั้งคัน และไม่สามารถระบายความร้อนได้ สุดท้ายก็ขับรถต่อไม่ได้อยู่ดี
2. อย่าใช้ความเร็วสูง หรือ เร่งๆ เบรคๆ ให้ค่อยๆ ขับไปด้วยความเร็วต่ำสม่ำเสมอสัก 3-4 กม./ชม. เวลาขับสวนกัน ก็อย่าเร่งความเร็วใส่กัน เพราะว่าเป็นผลเสียกับรถทั้งสองคัน (เครื่องจะดับทั้งคู่) ใช้เกียร์ต่ำเข้าไว้
3. อย่าเร่งเครื่องยนต์มาก ไม่ต้องกลัวว่าน้ำเข้าท่อไอเสีย การติดเครื่องยนต์ไว้ตามปกติ ไม่ต้องเร่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด ก็มีแรงดันไอเสียออกมาพอที่น้ำจะไม่สามารถเข้าไปได้แล้ว

หลังลุยน้ำ

1. เมื่อพ้นน้ำมาแล้ว ต้องลองเหยียบเบรคเพื่อไล่น้ำที่เข้าไปในระบบเบรคก่อน โดยการเหยียบเบรคเบาๆ ให้เกิดความร้อนและการเสียดสีรีดเอาน้ำออกมาจากระบบจานเบรค (และดรัมเบรค) เพื่อให้เบรคทำงานได้ดีขึ้นก่อนที่จะถึงเวลาที่ต้องใช้จริงๆ แล้วเบรคไม่อยู่ (ลื่น)
2. เมื่อถึงที่หมายแล้ว อย่าดับเครื่องทันที ติดเครื่องไว้สักพัก แล้วเดินมาดูที่ปลายท่อไอเสีย ว่าไอ้น้ำ(ร้อน)ที่ออกมาจากปลายท่อไอเสียหมดไปหรือยัง ถ้าหมดไปแล้วแสดงว่าความร้อนที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครื่องยนต์ได้ไล่เอาน้ำที่ตกค้างออกจากระบบไอเสียแล้ว ก็ดับเครื่องได้
3. ล้างรถให้สะอาด ทั้งตัวรถ ใต้ท้อง และซุ้มล้อ ตรวจสอบ น้ำมันเกียร์ว่าเปลี่ยนสีหรือมีน้ำปนเข้าไปหรือไม่ (รูเติม/ถ่าย น้ำมันเกียร์มักอยู่ระดับต่ำ และไม่ได้ปิดมิดชิด น้ำอาจจะสามารถซึมเข้าได้ระหว่างลุยน้ำ) และตรวจช่วงล่างต่างๆ คือ ลูกปืนล้อ ข้อต่อต่างๆ ที่อาจจะต้องมีจารบีอัดอยู่ และเช็คดูว่าน้ำเข้ารถไหม (มักจะไปซ่อนอยู่ใต้พรมภายในรถ) ก็จัดการให้เรียบร้อย ปรึกษาได้ทั้งช่าง และ ศูนย์บริการทำความสะอาดรถใหญ่ๆ ค่ะ

เรื่องน้ำ เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหามากกับรถ (ก็รถนี่คะ ไม่ใช่เรือ) ดังนั้นเราก็ต้องมีความรู้เรื่องการดูรถไว้บ้างนะคะ ขอให้โชคดี ไม่จมน้ำค่า