ในชีวิตของคนเรานั้น การนอนหลับพักผ่อนเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ถือว่าจำเป็นเป็นอย่างมากกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จริงไหมคะ แต่ใครจะทราบบ้างว่า ระหว่างที่เรานอนหลับนั้น อาจจะมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเพ้อ ละเมอ กรน หรือแม้แต่อีกอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างปัญหาให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ๆ และตัวเองได้มากกว่าที่คิดก็คือ "การนอนกัดฟัน" (มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Bruxism) ในบทความนี้ Womanandkid ขอนำความรู้ในเรื่องการนอนกัดฟัน มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านเพื่อเป็นความรู้ และแก้ไขปัญหานี้ได้หากเกิดขึ้นไม่ว่ากับตัวเองหรือคนใกล้ชิด มาติดตามกันเลยค่ะผลเสียของการนอนกัดฟัน
การนอนกัดฟันนั้นมีผลเสียเกิดขึ้นได้หลายอย่างนะคะ ที่แน่ๆ คืออาจจะเกิดเสียงดัง ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงหรือนอนอยู่ใกล้ๆ เกิดความรำคาญ ไม่สามารถนอนหลับได้ ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะของการนอนกัดฟันที่เกิดขึ้น ถ้ากัดแบบขบไว้เฉยๆ ก็อาจจะไม่มีเสียงก็ได้ค่ะ นอกจากนั้นก็เกิดผลเสียกับตัวเอง นั่นคือฟันของเรานั่นเอง การกัดฟันบ่อยๆ ทำให้ฟันสึกลงๆ โดยไม่สมควร คือยังไม่ทันจะได้ไปเคี้ยวอาหารอะไรให้เอร็ดอร่อย ฟันก็สึกลงแล้วอย่างน่าเสียดาย (เอาไว้ไปสึกนิดๆ หน่อยๆ ตอนเคี้ยวส้มตำ ขนมเค้ก บาร์บีคิว ยังจะดีเสียกว่าจริงไหมคะ) นอกจากนั้นถ้าการกัดฟันเป็นไปอย่างรุนแรง อาจจะทำให้ฟันบิ่นหรือแตกได้เลยเชียว และถึงจะไม่แตก การนอนกัดฟันเป็นการใช้กล้ามเนื้อขากรรไกรอยู่ตลอดเวลา เมื่อตื่นนอนขึ้นมาผู้นอนอาจจะรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณฟัน ปาก ขากรรไกร ปวดขมับ ปวดศีรษะหรือตึงหรือชาที่ฟัน กัดฟันแล้วเจ็บหรือเสียวฟันหลายซี่ ถ้าหนักเข้าก็อาจจะทำให้ใบหน้ากางออกใหญ่ขึ้นทั้งสองข้างเพราะกล้ามเนื้อข้างแก้มขยายใหญ่จากกการกัดฟันบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง (เพราะเหมือนการใช้งานกล้ามเนื้อ บ่อยๆ เข้าก็มีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะมันแข็งแรงขึ้นแบบที่เราไม่ได้ต้องการนั่นเอง)
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
หลังจากที่ทราบถึงผลเสียที่เกิดขึ้นแล้ว เราลองมาดูกันเรื่องสาเหตุของการนอนกัดฟันกันบ้างดีกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีความพยายามศึกษากันมานาน ส่วนมากแล้วไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดอย่างแท้จริงของการนอนกัดฟัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสรีระวิทยา) แต่ผลการศึกษาก็พบความสัมพันธ์ระหว่างอาการนอนกัดฟันกับลักษณะสองสามประการของผู้ที่มีปัญหานี้คือ
1) ความเครียด
พบว่าผู้ที่มีความวิตกกังวลในบางช่วงเวลา ในการทำงาน หรือการเรียน เช่นช่วงที่ต้องเตรียมงานสำหรับลูกค้าสำคัญบางราย หรือช่วงใกล้สอบ ช่วงที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดกับสภาวะเศรษฐกิจ เหล่านี้ทำให้มีโอกาสทำให้เกิดการนอนกัดฟันได้มากขึ้น
2) เกิดจากสภาพร่างกาย
จุดนี้อาจจะเป็นจุดเดียวที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพร่างกายได้ คือปัญหาเกิดจากสภาพในช่องปากที่มีการสบฟันไม่ดี ไม่ว่าจะเกิดโดย ธรรมชาติ เกิดจากการอุดฟัน ใส่ฟัน ทำให้ฟันบางซี่สูงกว่าปกติ ทำให้เกิดการสะดุดเวลาบดเคี้ยวอาหาร ส่งผลทำให้การสบฟัน เปลี่ยนไป และกระตุ้นให้ร่างกายพยายามปรับความไม่สม่ำเสมอนั้นลงโดยการกัดขบส่วนที่ไม่เสมอนั้น ทำให้มีการกัดเน้นฟันตลอดเวลานอน
3) เกิดจากอาหารบางชนิด
จากการศึกษายังพบว่าเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (ชา กาแฟ น้ำอัดลมบางชนิด เป็นต้น) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด และยาที่ใช้รักษาโรคบางตัวเช่น แอมเฟตามีนที่ใช้ร่วมกับ L-dopa หรือยาเฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) ซึ่งได้มาจากแอมเฟตามีน หรือผู้ที่ใช้ยาฟีโนเธียซีน (Phenothiazine) เป็นเวลานาน มีความสัมพันธ์ในการเพิ่มระดับการกัดฟันด้วย
วิธีแก้ไขการนอนกัดฟัน
เมื่อเราทราบถึงสาเหตุและที่มาของการนอนกัดฟันแล้ว คราวนี้มาลองดูวิธีการแก้ไขกันบ้างค่ะ วิธีการก็แบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ก็คือการพยายามแก้ที่สาเหตุ และการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้
1) จัดการความเครียด
โดยการหาวิธีผ่อนคลายความเครียด หรือลดความเครียดลงให้ได้ การจัดการกับความเครียดก็เช่น ถ้ามีปัญหาเรื่องการงานหรือการเรียน ก็ให้พยายามแก้ไขหรือวางแผนหาวิธีแก้ไขเอาไว้ให้เสร็จสิ้นก่อนการนอนหลับพักผ่อน อาจจะโดยการค้นคว้าเพิ่มเติม การหาผู้ช่วย การหาที่ปรึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไป ปัญหาเรื่องการเรียนก็เช่นกัน อาจจะวางแผน และ/หรือทำการศึกษาเพิ่มเติม หาตำราหรือครูอาจารย์ที่สามารถสอนให้เราเข้าใจในบทเรียนได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเครียดลงได้ นอกจากนั้นการเล่นกีฬาออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ทำสมาธิ ก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกที่จะลดความเครียด และน่าจะดีกว่าการใช้ยาลดความเครียดนะคะ (เดี๋ยวกลายเป็นติดยาลดความเครียด เลยเครียดหนักกว่าเดิมค่ะ)
2) แก้ไขสภาพภายในช่องปาก
หากการกัดฟันทำท่าจะมีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์ของช่องปาก เช่นลักษณะการสบฟันไม่ดี ก็ต้องแก้ไขที่จุดนี้ ถ้าจะว่าไปนี่ก็เป็นการแก้ไขที่ชัดเจนที่สุดในบรรดาหลายๆ สาเหตุเลยนะคะ (อย่างน้อยก็จับต้องได้) เมื่อสภาพปากและฟันดีขึ้น ปัญหาการนอนกัดฟันจากสาเหตุนี้ก็น่าจะลดลงได้
3) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางชนิด
ถ้าผู้ที่นอนกัดฟัน มีแนวโน้มว่าดื่มเครื่องดื่มที่อาจจะทำให้เพิ่มความเครียดได้อยู่เป็นประจำ ก็ควรจะทดลองลดเครื่องดื่มประเภทนี้ลงค่ะ อาจจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย อย่างน้อยการลดเครื่องดื่มพวก ชา กาแฟ ที่มีคาเฟอินลง ก็น่าจะทำให้หลับสนิทได้ดีขึ้นนะคะ
4) จัดการกับปัญหา
นอกจากข้อ 1-3 ด้านบนแล้ว หากปัญหายังอยู่ (หรือแม้แต่ในระหว่างที่จัดการแก้ไขด้วยวิธีการในข้อ 1-3 ก็ตาม) ก็ต้องมีการจัดการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของเราจากการนอนกัดฟัน ซึ่งก็มีวิธีต่างๆ ตั้งแต่การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ การใส่เครื่องป้องกันขณะนอนหลับ (Nightguard) ไปจนถึงการใช้เฝือกการสบฟัน (Occlusal Splint) ซึ่งพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะมีอาการนอนกัดฟันลดลงหลังจากใส่เฝือกการสบฟันไประยะหนึ่ง (อาจจะเกะกะหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้นะคะ) อย่างไรก็ตามการรักษาที่มีในผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีวิธีแตกต่างกันออกไป วิธีที่ดีที่สุดอันหนึ่งก็คือปรึกษาทันตแพทย์ถึงการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละท่านด้วยค่ะ
ถ้า เพื่อนๆ ไม่มีปัญหาเรื่องการนอนกัดฟัน ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ดีนะคะ และหากเพื่อนๆ มีเพื่อนที่มีปัญหาเรื่องนี้ (หรือแม้แต่ไม่ทราบว่าใครมีปัญหาอย่างนี้หรือไม่ก็ตาม) ลองส่งบทความนี้ให้เขาได้อ่านดูนะคะ จะได้สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ (จะพอทราบได้ก็เมื่อเกิดการปวดเมื่อยต่างๆ ตามที่ได้อธิบายไว้แล้ว) เป็นการช่วยเหลือเพื่อนๆ ได้ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมนะคะ ขอบคุณค่ะ