นอนกรนเกิดจากอะไร


เพื่อนๆ เคยหรือไม่คะที่ กลางดึกดื่นระหว่างที่กำลังนอนหลับอย่างแสนสบายในการไปเที่ยวกลางป่าเขากับเพื่อนในกลุ่ม ที่ไม่ได้เคยไปเที่ยวด้วยกันมาก่อน แต่แล้ว เอ๊ะ นั่นเสียงอะไรครืดคราดโครกคราก เหมือนกับสิงสาราสัตว์กำลังออกทำมาหากิน หรือเจ้าป่าเจ้าเขากำลังบ่นเราที่เข้ามานอนในพื้นที่ (อันนี้ออกจะนิยายไปหน่อย อิอิ) แต่หันไปหันมาอีกที อ้าว เสียงที่ว่าเป็นเสียงที่ถูกสร้างมาจากเพื่อนของเรา ที่นอนอยู่ข้างๆ นี่เอง โธ่ นอนกรนหลับสบายไมรู้เรื่องเลยนะเนี่ย แล้วเสียงการนอนกรนที่เกิดจากอะไรล่ะ มาลองดูกันเล่นๆ ดีกว่านะคะ

การนอนกรน เป็นอาการหนึ่งที่เกิดในขณะที่นอนหลับ เสียงที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการสั่นของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจทำให้เกิดเป็นเสียงที่เราได้ยินขึ้น การสั่นนี้เกิดจากการที่ทางเดินของอากาศถูกปิดกั้นขวางทางไว้ ทำให้อากาศ (ที่ผู้นอนกรนหายใจนั่นแหละ) ไปทำให้อวัยวะเกิดการสั่นและสร้างเสียงขึ้น ซึ่งบางทีเสียงที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นเสียงเพียงเบาๆ แต่ในบางครั้งก็เป็นเสียงดังมากๆ น่ารำคาญ จนนึกว่าเจ้าป่ากำลังย่างกรายเข้ามาทำร้ายได้ (ว่าไปนั่น) อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีแล้ว อาการนอนกรนขนาดหนักมากๆ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคระบบทางเดินหายใจนะคะ

โดยทั่วไป อวัยวะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำเนิดเสียงกรนก็คือลิ้นไก่และเพดานอ่อน การไหลของอากาศที่ผิดปกติเกิดจากการที่ทางไหลนี้ถูกปิดกั้นเอาไว้ซึ่งมีสาเหตุได้จากหลายอย่างเช่น

- ความอ่อนแอ หรืออ่อนล้าของช่องคอ ทำให้ลำคอปิดลีบลงในระหว่างการนอนหลับ
- ตำแหน่งของขากรรไกรผิดปกติ โดยทั่วไปอาจจะเกิดจากความตึง ความเครียดของกล้ามเนื้อ
- ไขมันที่อยู่รอบๆ ลำคอ (บางทีเลยมีการบอกว่า คนอ้วนกว่ามักจะนอนกรนง่ายและมากกว่าคนที่ผอมกว่า)
- ทางเดินหายใจด้านจมูกถูกขัดขวาง (คล้ายๆ กับเมื่อเราเป็นหวัด เมื่อหายใจก็มีเสียงล่ะค่ะ)
- ภาวะหยุดหายใจชั่วคราวในระหว่างการนอนหลับเนื่องจากการทางเดินหายใจถูกปิดกั้น (OSA หรือ Obstructive Sleep Apnea อันนี้อันตรายนะคะ)
- เกิดจากการที่เนื้อเยื่อด้านบนของผนังระบบทางเดินหายใจแตะกัน ทำให้เกิดการสั่นเมื่อมีอากาศไหลผ่าน
- การนอนในบางท่าเช่นการนอนหงาย ทำให้โคนลิ้นถอยลงไปปิดทางเดินหายใจด้ายหลังของช่องปาก

การกรนเป็นผลทำให้เกิดการนอนหลับพักผ่อนไม่เต็มที่ ทั้งกับผู้ที่นอนกรนเองและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการหลับใน สัปหงก หงุดหงิดง่าย และความรู้สึกทางเพศลดลง การวิจัยศึกษาหลายๆ ครั้งยังพบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่นอนกรนดังๆ กับอัตราความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมองด้วย โดยนักวิจัยตั้งสมมติฐานว่าในผู้ที่นอนกรนดังๆ นั้น การกรนจะสร้างความปั่นป่วนในกระแสการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงในบริเวณใกล้ๆ ลำคอ การปั่นป่วนในการไหลของกระแสเลือดนี้จะทำให้เกิดความระคายเคืองของเซลล์เม็ดเลือด และอาจจะเกี่ยวข้องกับโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็งได้อีก (ยุ่งจังเลย แค่นอนกรนเองนะเนี่ย)

จะเห็นได้ว่า ของเล็กๆ น้อยๆ อย่างการนอนกรน ก็อาจจะสร้างปัญหาหรือแสดงถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่ได้ ในบทความคราวหน้า เราจะพูดถึงเรื่องของวิธีการจัดการกับการนอนกรนกัน โปรดคอยติดตามนะคะ