ยารักษาสิว


หลังจากที่เราเคยพูดเรื่องสาเหตุของการเป็นสิว เรื่องของการป้องกันสิว การทำตัวให้รอดพ้นจากการเป็นสิวมาหลายบทความแล้ว เพื่อนๆ ก็คงอยากทราบกันต่อไปว่าหากเป็นสิวแล้ว และต้องการรักษา จะต้องจัดการอย่างไร เอายาอะไรมาทาจึงจะหาย หรือช่วยได้บ้าง บทความนี้เลยมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังในเรื่องนี้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม ในการใช้ยารักษาสิว จะต้องบอกเพื่อนๆ ก่อนว่าส่วนมากแล้วเป็นยาใช้ภายนอก หรืออย่างน้อยก็ให้เพื่อนๆ พยายามใช้เฉพาะยาภายนอกก่อน ก่อนที่จะใช้ยารับประทานนะคะ เพราะอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ย่อมน้อยกว่า การแพ้ยาก็น้อยกว่า และถึงจะแพ้ยาภายนอกจริงๆ ยาภายนอกก็เพียงทำความสะอาด หยุดยา ก็แก้ไขปัญหาไปได้เกือบหมด ในขณะที่ยารับประทานซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องสิวในปริมาณมาก ผลของยาจะยังตกค้างอยู่ในตัวเรา ดังนั้นการจะรับประทานยาก็ควรจะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรด้วยนะคะ

คราวนี้มาดูกันดีกว่าว่า ปกติแล้วเมื่อเป็นสิวจะมีตัวยาอะไรที่ช่วยได้บ้าง ถ้าจะว่าไปแล้วยาเหล่านี้ก็มีได้หลายรูปแบบ ทั้งเป็นครีม เป็นเจล เป็นน้ำ เช่น

1. เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
ใช้เพื่อกำจัดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว (เรียกว่า Propionibacteria Acnes หรือ P.Acne) และลดการผลิตน้ำมันของต่อมน้ำมันลง เป็นสารเคมีที่เป็นส่วนผสมของยารักษาสิวจำนวนมากที่มีขายอยู่ทั่วไป (เช่นยี่ห้อ Clearasil และ ProActiv เป็นต้น) รวมถึงบางครั้งแพทย์ก็สั่งให้กับคนไข้ต่างหากด้วย มีการใช้กันมานานเป็นสิบปีแล้วและได้ผลค่อนข้างดีและราคาไม่แพง เจ้า P.Acne ไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่ๆ มีออกซิเจนมากๆ ได้ (จำได้ไหมคะว่า เราเคยเรียนสุขศึกษามาว่า ออกซิเจนสามารถฆ่าเชื้อโรคบางอย่างได้) เบนโซอิลเพอออกไซด์จะเพิ่มปริมาณออกซิเจนจำนวนมากให้กับบริเวณที่เป็นสิว ทำให้แบคทีเรียตายไป นอกจากนั้นยังสามารถทำความสะอาดรูขุมขน นำเอาเซลล์ที่ตายแล้วออกมาได้ ทำให้อาการสิวดีขึ้นได้

2. ยาปฏิชีวนะต่างๆ (Antibiotics)
กลุ่มยาเหล่านี้จะหยุดการเติบโตของแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในบริเวณรูขุมขนซึ่งเป็นตัวเร่งทำให้เกิดสิวอักเสบ หรือแม้กระทั่งฆ่าเชื้อเหล่านี้ นอกจากนั้นยังช่วยลดการระคายเคืองที่เกิดจากสารเคมีที่ถูกผลิตขึ้นโดยเซลล์เม็ดเลือดขาว และยังลดความเข้มข้นของกรดไขมันในน้ำมันที่ต่อมน้ำมันขับออกมา เป็นการลดการอักเสบลงได้ ตัวอย่างของยาปฏิชีวนะเช่น เตตราไซคลิน (Tetracycline - ส่วนมากจะใช้รับประทาน), อีริธโทรมัยซิน (Erythromycin - มีทั้งแบบรับประทานและใช้เฉพาะที่), ไมโนไซคลิน (Minocycline - ส่วนมากจะใช้รับประทาน), คลินดามัยซิน (Clindamycin - มีทั้งแบบรับประทานและใช้เฉพาะที่) เป็นต้น

3. เตรติโนอิน (Tretinoin)
เจ้าเตรติโนอินหรืออาจจะเรียกว่า เรติน-เอ, เอวีตา, หรือ เรโนวา (Retin-A, Avita, Renova) ก็ตามที ล้วนเป็นอนุพันธ์จากวิตามินเอทั้งสิ้น และได้รับการนำมาใช้รักษาสิวที่เป็นหัวขาวหรือหัวดำ (ไม่ใช่สิวอักเสบ) ช่วยทำให้เกิดการผลัดเซลล์ผิว ทำให้ตุ่มสิวหายอุดตันโดยทำให้เกิดการดันเอาสิ่งอุดตันออกมาจากรูขุมขน และจะลดการก่อตัวของหัวสิวใหม่ ซึ่งการใช้ยาที่มีส่วนประกอบของเตตริโนอินอาจจะทำให้มีการระคายเคืองซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งการผลัดเซลล์ผิว บางคนเลยหยุดใช้ไปก่อนและคิดว่าไม่ได้ผล (ปกติในการใช้รักษาสิวจะกินเวลาประมาณ 6-9 สัปดาห์) นอกจากนั้น เตรติโนอินยังเป็นยาใช้เฉพาะที่ชนิดเดียวที่มีข้อดีอีกประการหนึ่งคือสามารถลดรอยเหี่ยวย่นได้ด้วย (ใช้เวลาเห็นผลราวๆ 6 เดือนขึ้นไป)

4. อแดพพาลีน (Adapalene)
เป็นเรตินอยด์ (Retinoid) ที่มีลักษณะเป็นวิตามินเอชนิดหนึ่ง และสามารถอยู่ได้ทั้งรูปแบบรับประทานและใช้เฉพาะที่ (ทา) เมื่อเป็นยี่ห้อการค้าก็อาจจะใช้ชื่ออื่นไปเช่น ดิฟเฟอริน (Differin) ในบางประเทศการใช้ยานี้อาจจะต้องการใบสั่งยาจากแพทย์ (พึงระวังในสตรีมีครรภ์ด้วย) ในการใช้งานอาจจะมีอาการระคายเคืองเช่นเดียวกับวิตามินเอทั่วไป

5. กรดอาซเลอิก (Azelaic acid)
เป็นกรดเคมี (สกัดจากพืชเช่นข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ เป็นต้น) ทำหน้าที่เป็นยาฆ่าเชื้อเหมือนกับข้อ 2. มีหน้าที่หยุดการเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวอักเสบ การอักเสบก็จะลดลง อย่างไรก็ตามตัวยาที่ทำงานด้วยกรดอาซเลอิกนี้จะไม่ได้ผลกับสิวที่ไม่ได้เกิดจากแบคทีเรีย นอกจากนั้นเนื่องจากความเป็นกรดของมัน จะมีผลต่อการลอกเซลล์ผิวและผลัดเซลล์ใหม่ด้วย ดังนั้นในการใช้งานอาจจะเกิดการแสบ ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งจะต้องระวังไม่ให้โดนแสงแดดรุนแรงด้วย ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาจะประมาณ 1-2 เดือนหลังจากเริ่มใช้ จนกระทั่งเริ่มเห็นว่าสิวหายไปนะคะ

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันนี้มีตัวยาหลายชนิดที่สามารถรักษาสิวได้ ทั้งชนิดกินและทา (เพื่อนๆ พยายามเลือกชนิดทาไว้ก่อนดีกว่านะคะ) แต่หากยังมีปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวอยู่ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นสิวได้อีกนะคะ สรุปก็คือ ป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุไว้จะดีกว่า แต่เมื่อเป็นสิวแล้ว ก็ยังพอจะจัดการได้ด้วยยาอีกชั้นหนึ่งนะคะ