เชื่อว่าเพื่อนๆ ที่เป็นผู้หญิงหลายๆ คนที่เข้ามาอ่านเว็บไซต์ของเรา (ถ้ามีหนุ่มๆ แอบมาด้วยก็ไม่ว่ากันนะคะ จะได้เข้าใจสาวๆ ข้างตัวของคุณได้ดีขึ้นนะคะ) ต้องเป็นผู้หญิงที่เรียกว่า "ผู้หญิงเก่ง" อย่างแน่นอน เพราะคนเราก็ต้องมีความเก่งด้านดีๆ ในแบบของเราสักอย่างสิน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงนักทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เลขานุการ นักบัญชี นักวิทยาศาสตร์ ครู อาจารย์ วิศวกร สถาปนิก นักการตลาด และอีกหลายๆ สาขาอาชีพ ล้วนมีผู้หญิงทำงานยอยู่เสมอ แต่เคยสังเกตตัวเองไหมคะว่า ในบางครั้งผู้หญิงเราก็มีความคิดประมาณว่า "ตัวฉันนั้นเก่งจริงๆ น่ะหรือ"อาการสงสัยในตัวเอง
หากเพื่อนผู้หญิงที่เข้ามาอ่านมีความคิดบางแวบที่พูดถึงนั้น ก็ไม่ต้องกังวลหรอกค่ะ (กระซิบอีกนิดก็ได้ค่ะว่า หนุ่มๆ เขาก็เป็นบ้างเหมือนกัน แต่น้อยกว่าเราเท่านั้นเองล่ะ) เพราะเป็นอาการที่เรียกว่า อาการสงสัยในตัวเอง (Impoter Syndrome) คือไม่ใช่โรคใดๆ แต่เป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ยาม อาการนี้เกิดขึ้นได้เสมอไม่ว่าผู้หญิงคนนั้นๆ จะประสบความสำเร็จในระดับไหน ตัวอย่างความสงสัยก็เช่น ฉันเก่งจริงๆ น่ะหรือ, ฉันประสบความสำเร็จเพราะว่าบังเอิญแค่นั้นมั้ง, อาจจะได้ตำแหน่งนี้มาเพราะน่ารัก หน้าตาดีมากกว่าฝีมือ, ฉันมีแฟนหล่อ ฉลาด รวย และรักฉันสุดๆ คงเป็นเพราะเขาทำงานมากจนไม่มีเวลาไปเลือกใครแล้วมั้ง เป็นต้น และอาการแบบนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติหรอกค่ะ แต่เพราะมีที่มาที่ไป ไม่ว่าจะเป็นเพราะเคยล้มเหลวมาก่อน แหม ก็ใครบ้างล่ะคะที่ไม่เคยล้มเหลว นอกจากคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย ยิ่งทำมามาก โอกาสที่จะมีงานที่ไม่สำเร็จก็ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว (ทั้งที่ จำนวนงานที่สำเร็จก็มักจะมากขึ้นด้วย) และอาจจะเป็นเพราะในสังคมปกติแล้ว ผู้หญิงมักจะต้องอ่อนน้อมถ่อมตน การจะคุยโม้ว่าทำนั่นนี่ได้เก่งกว่าคนนั้นคนนี้ รวมทั้งกว่าเหล่าผู้ชายหนุ่มๆ ทั้งหลาย มักไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมทั่วไปสักเท่าไร ผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงเก่งจึงอาจจะสร้างความกดดันตัวเองไว้ตลอดว่า จะต้องสงสัยนั่นนี่ให้มากกว่า ต้องทำงานมากกว่า เพื่อประสบความสำเร็จ ตลอดจนการคิดว่าการประสบความสำเร็จได้หมายถึงทำงานและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ หรือ หากต้องใช้กำลังสมองหรือกำลังกายมากมายเพื่อทำงานให้สำเร็จแล้วล่ะก็ แสดงว่ายังไม่เก่งในเรื่องนั้น (ทั้งที่คนอื่นอาจจะทำไม่สำเร็จเลยด้วยซ้ำ) ก็คงเข้าสุ่วังวนของอาการสงสัยในตัวเองนั่นเอง
ผลเสียที่ตามมา
อย่างแรกที่เกิดขึ้นก็คือ การไม่มีความสุขกับตัวเอง เมื่อเราไม่พอใจตัวเองแล้ว เป็นการยากที่จะหาความสุขได้ แย่ไปกว่านั้นก็คือการพยายามจับผิดตัวเอง จ้องดูจุดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหาข้อผิดพลาดแล้วปรับปรุงให้ได้ จริงอยู่ที่การหาข้อผิดพลาดเพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การจดจำเฉพาะส่วนที่ผิดพลาดและนำมาเป็นหลักใหญ่ของผลการทำงานหรือดำเนินชีวิตของตัวเอง จนกระทั่งไม่มีความสุข จนกระทั่งจิตใต้สำนึกคอยบอกตัวเองอยู่เสมอว่า ฉันทำไม่ดี ฉันทำผิดพลาดอยู่เสมอ ฉันคงไม่สามารถก้าวหน้าไปกว่านี้ได้อีกแล้ว แบบนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เพราะนั่นเป็นสิ่งที่คิดเอาเองโดยไม่ใช่ความจริงทั้่งหมดที่เกิดขึ้น เพราะความจริงทั้งหมดคือ สิ่งที่ทำสำเร็จก็มีมากมาย และสิ่งที่ทำไม่สำเร็จนั้นต่างหาก ที่เป็นบันไดให้เรียนรู้เพื่อทำสิ่งที่สำเร็จต่างหาก เพราะถ้าจิตใต้สำนึกของเราคอยบอกตัวเองแต่ด้านลบ ว่าเราทำไม่ได้หรอก เราก็จะไม่มีทางทำได้ดีไปกว่าที่เคยเป็นเหมือนกัน
ป้องกันและแก้ไขอย่างไร
เมื่อทราบว่าอาการสงสัยในตัวเองแบบนี้ มีข้อเสียอยู่มากต่อชีวิตการทำงาน ก็คงต้องหาวิธีแก้ไข เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องที่ทำให้เป็นเรื่องกับตัวเรา (งงไหมคะ เขียนไป อ่านทวนไปหลายรอบนะคะนี่) ไม่ว่าทางด้านการงานหรือครอบครัว ก็คงต้องแก้ไขกัน โดยหลักแล้วมีสามสี่แนวทางคือ
1. ต้องยอมรับว่าไม่มีใครทำทุกอย่างได้เองตั้งแต่เกิด เราต้องยอมรับว่าเราทุกคนไม่ได้เก่งไปทุกเรื่อง และสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นจะเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จในที่สุด ของที่ยังไม่สำเร็จในวันนี้หรือแม้แต่ดูล้มเหลว ไม่ใช่ความล้มเหลวที่แท้จริง เพราะเป็นการค้นพบวิธีที่ใช้ไม่ได้ต่างหาก (แนวคิดของ โธมัส อัลวา เอดิส้น ซึ่งกว่าจะประดิษฐ์หลอดไฟหลอดแรกสำเร็จ ต้องทดลองหาวัสดุกว่าหนึ่งพันชนิดเพื่อมาสร้างเป็นใส้หลอดไฟ)
2. เสียเวลากับการตั้งคำถามให้เกิดความสงสัยในตัวเองให้น้อยลง คือตั้งใจทำงานไปเรื่อยๆ จนไม่มีเวลาสงสัยว่าตัวเองเก่งจริงหรือไม่ แต่วิธีนี้อาจจะทำให้สาวๆ เป็นคนบ้างานมากเกินไปหน่อย เรียกว่าทำงานจนกลบความกังวลที่จะเกิดขึ้นได้ หากทำมากเกินไปก็มีข้อเสียนะคะ
3. ลองลืมเรื่องเลวร้ายที่ผิดพลาดหรือไม่สำเร็จ และนึกถึงเรื่องดีๆ ที่เคยทำได้และประสบความสำเร็จมาก่อน ลองนึกเรื่องดีๆ สักห้าเรื่องและทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น และทุกครั้งที่เกิดควาไม่แน่ใจในการทำอะไรก็ตาม ให้ลองคิดกลับไปในข้อแรกว่า ไม่มีใครทำทุกอย่างเป็นมาก่อน ถ้าไม่เคยทำอะไรพลาดเลย จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อผิดพลาดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น (แต่ต้องระวังนะคะ ว่าความผิดพลาดที่แย่ที่สุดนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่ยอมรับได้) อย่ากลัวในสิ่งที่ไม่เคยทำ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว คนเรามักจะเสียใจในสิ่งที่ไม่ได้ทำ มากกว่าสิ่งที่ทำไปแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้นบ้างนิดๆ หน่อยๆ ค่ะ
สู้ๆ ต่อไป ทำงานอย่างมีความสุข มีชีวิตสดใส เป็นสุขกันทุกๆ ท่านนะคะ