ทฤษฎีความขาว

 

จากบทความก่อนในเรื่อง ทำไมเรามีสีผิวต่างกัน เราได้เห็นไปแล้วว่าอะไรเป็นส่วนประกอบที่ทำให้ผิวหนังของคนแต่ละคนมีสีผิวต่างกัน นอกจากนั้นแล้วเรายังได้รู้ว่า กลไกการสร้างเม็ดสีต่างๆ ที่ทำให้ผิวของเรามีสีต่างกันนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร (อ่านเรื่อง กลไกการสร้างเม็ดสีเมลานิน ที่นี่) มาถึงตรงนี้ สาวๆ ก็คงอยากจะรู้ต่อไปว่า การที่จะทำให้เรามีผิวขาวขึ้น กว่าที่เราเป็นอยู่นั้น เป็นไปได้หรือไม่อย่างไร ลองมาดูกันให้ทะลุปรุโปร่งกันเลยดีกว่านะคะ (ดูภาพประกอบ) 
 
ผิวหนังเรานั้นประกอบไปด้วยชั้นต่างๆ ซึ่งแต่ละชั้นก็มีหน้าที่แตกต่างกัน  ดังนี้
1. ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis)
2. ชั้นหนังแท้ (Dermis)
3. ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutneous fat layer)

ชั้นหนังกำพร้านั้นไม่มีหลอดเลือดเป็นส่วนประกอบ แต่ได้รับสารอาหารและถ่ายเทของเสียโดยการแพร่ผ่านหนังแท้ เซลล์องค์ประกอบส่วนใหญ่ของหนังกำพร้าคือ คีราติโนไซต์ (keratinocytes) , เมลาโนไซต์ (melanocytes) , เซลล์แลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans cells) และเซลล์เมอร์เคลส์ (Merkels cells) เซลล์แต่ละชนิดก็มีลักษณะและหน้าที่ของตัวเองคือ

1. เซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte)
จะอยู่ในชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ด้านล่างติดกับชั้นหนังแท้ (Dermis) เซลล์นี้เป็นตัวทำให้เราดำหรือขาว เพราะเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ซึ่งมีสีน้ำตาล-ดำ ถ้ามีมากผิวก็ดำ ถ้าน้อยผิวก็ขาว เมื่อเซลล์เมลาโนไซต์สร้างเม็ดสีขึ้นก็จะกระจายเม็ดสีขึ้นไปยังผิวชั้นบน โดยจะมีเซลล์ที่คอยรับเม็ดสีเมลานินคือเซลล์ คีราติโนไซต์ (Keratinocyte) กระบวนการสร้างเม็ดสีของเซลล์เมลาโนไซต์ต้องอาศัยเอนไซม์ชื่อไทโรซิเนส (Tyrosinase) ดังนั้นถ้าเรายับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสได้ เราน่ามีผิวที่ไม่เป็นสีดำได้

2 .เซลล์คีราติโนไซต์ (Keratinocyte)
เมื่อเซลล์คีราติโนไซต์ (Keratinocyte) ได้รับเมลานินจากเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) ก็จะค่อยๆเคลื่อนตัวอย่างช้าๆขึ้นไปด้านบน จากการดันของเซลล์ใหม่ข้างล่าง จนในที่สุดผิวเก่าก็จะหลุดลอกออกไปผิวใหม่ข้างใต้ถูกดันมาแทนที่ ดังนั้นช่วงที่ผิวใหม่ดันขึ้นมา ผิวเราจะสีชมพูเรื่อๆ เพราะยังไม่มีเมลานินดันขึ้นมามากนั่นเอง ช่วงเราเด็กๆผิวเราจะผลัดทุกๆ 28 วันแต่เมื่ออายุมากขึ้น อาจจะ 45 วันหรือมากกว่านั้น ผิวคนอายุมากเลยดูคล้ำๆโทรมๆการใช้ AHA ,BHA ช่วยผลัดเซลล์ผิวชั้นนอกที่ตายแล้วออกไปและกระตุ้นการแบ่งเซลล์ใหม่ให้ดันขึ้นมา ทำให้ผิวที่มีเมลานินถูกดันออกไป ผิวที่เห็นภายนอกจึงเป็นผิวใหม่สวยงาม ขาวอมชมพูได้ไงล่ะคะ

3. เซลล์แลงเกอร์ฮานส์ (Langerhans)
ทำหน้าที่เสมือนเป็นเม็ดเลือดขาว (Macrophage) ในผิวหนัง นั่นคือเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมอะไรเข้ามาเซลล์แลงเกอร์ฮานส์จะเป็นตัวไปโอบล้อมจับกินเสีย บทบาทสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพผิวของเซลล์แลงเกอร์ฮานส์ก็คือเมื่อเซลล์ผิวชั้นบนเสื่อมสภาพลง มันจะเป็นตัวไปกินเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว ทำให้เกิดช่องว่าง ทำให้เซลล์ผิวใหม่ดันขึ้นมาแทนที่ได้ ในขณะเดียวกันมันจะส่งสัญญาณเคมี (Cytokinase) ไปกระตุ้นเซลล์ที่ชื่อไฟโบรบลาสท์ (Fibroblast) ให้สร้างคอลลาเจน (Collagen) ซึ่งทำให้ผิวเต่งตึงค่ะ

ถ้าอยากจะผิวขาวล่ะ ทำอย่างไรได้บ้าง

หลังจากที่ได้รู้จักเซลล์และหน้าที่ของเซลล์แต่ละชนิดไปแล้ว เราก็ลองมาดูว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อส่งเสริม ยับยั้ง การทำงานหรือกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเม็ดสีเมลานิน ที่ดูเหมือนเราจะไม่ค่อยต้องการเท่าไรเนื่องจากมักมีแนวโน้มที่จะทำให้เรา "ไม่ขาว" (พยายามไม่บอกว่า "ดำคล้ำ" ค่ะ) เพื่อทำให้สีผิวของเราขาวขึ้น ลองมาดูขั้นตอนกันว่า ทฤษฎีความขาวนั้นทำงานอย่างไร

1. เรารู้ว่าเซลล์เมลาโนไซต์ (Melanocyte) มีหน้าที่สร้างเมลานิน (Melanin) ที่มีสีคล้ำ ดังนั้นถ้าอยากขาว ก็ต้องใช้สารยับยั้งเอนไซม์ที่กระตุ้นให้สร้างเม็ดสีคือเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase), และจัดการป้องกันไม่ให้เมลานินกระจายขึ้นไปชั้นบนด้วยวิตามินซี

2. แสงแดดจะทำให้เกิดการกระตุ้นอนุมูลอิสระ (Free radicals) ซึ่งจะไปกระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สร้างเม็ดสี ในขณะที่เมื่อผิวได้รับแสงแดด เอนไซม์คอลลาเจเนส (Collagenase) ซึ่งคอยทำลายคอลลาเจน (Collagen) ในผิวเราจะทำงาน จึงทำให้ ดำและเหี่ยว ดังนั้นหากต้องการมีผิวขาวก็จะต้องป้องกันการถูกแสงแดดจัดให้ดี

3. ใช้สารเคมีช่วยลอกผิวเซลล์เก่าๆ ที่ตายแล้วออก (Exfoliate) เซลล์พวกนี้มักจะมีเมลานินที่มีสีคล้ำอยู่ด้วย เมื่อลอกออกแล้วผิวก็จะขาวขึ้นและให้โอกาสกับเซลล์ผิวใหม่ได้เจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่ สารเคมีที่ใช้ในการลอกเซลล์ที่ตายแล้วออกก็ได้แก่ กรดผลไม้ต่างๆ (เอเอชเอ, Alpha Hydroxy Acids) เช่นกรดซิตริก (Citric acid) หรือ กรดไกลโคลิก (Glycolic acid), หรือกรด BHA (บีเอชเอ, Beta Hydroxy Acid) เช่นกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) เป็นต้น (ดูเรื่อง การลอกผิวด้วยสารเคมี ประกอบได้ค่ะ)

เป็นอย่างไรบ้างคะ คราวนี้สาวๆ ก็พอจะทราบแล้วว่า หากต้องการผิวขาวก็จะมีวิธีการจัดการที่ต้นเหตุของความ "ไม่ขาว" นั่นเอง ในบทความหน้าเราจะแนะนำให้สาวๆ ได้รู้จักกับสารหรือกลไกของตัวยาต่างๆ ที่ทำหน้าที่ช่วยให้เรา "ขาวขึ้น" กันนะคะ