สารไวเทนนิ่งและการทำงาน


สำหรับสาวๆ เกือบทุกๆ คนนั้น การมีสุขภาพผิวที่ดีสมบูรณ์นั้นคงเป็นหนึ่งในความปรารถนาอย่างหนึ่งจริงไหมคะ (อ่านเรื่อง ผิวสวยเป็นอย่างไร) และนอกเหนือไปกว่านั้น หลายๆ คนอาจจะต้องการให้ผิวมีสีอ่อนลงหรือเป็นสีขาวอมชมพูได้เลยยิ่งดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสีผิวมีที่มาที่ไปตามวิทยาศาสตร์ทางชีววิทยาไม่ได้เป็นเรื่องลี้ลับแต่อย่างใด ดังนั้นในปัจจุบันนี้จึงมีการใช้ตัวยาหรือสารเคมีต่างๆ ในการช่วยปรับปรุงสีผิวให้มีสีอ่อนลง (สารเพิ่มความขาว Whitener) ซึ่งโดยหลักการแล้วก็คือการทำให้เม็ดสีเมลานิน (Melanin) ทำงานน้อยลงหรือส่งผลให้เห็นน้อยลง เราลองมาดูกันว่าสารหรือตัวยาที่ช่วยให้ผิวขาวขึ้นเหล่านี้มีอะไรบ้างและทำงานอย่างไรค่ะ

ในปัจจุบันนี้สารเพิ่มความขาวที่จะทำงานโดยการเพ่งเล็งไปที่การลดหรือขัดขวางการผลิตเม็ดสีเมลานินจะเน้นไปที่การหยุดหรือขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) หลายๆ ตัวยามีการผสมกันระหว่างสารที่ขัดขวางเอนไซม์ไทโรซิเนส ตัวยาสำหรับกันแดด (กันแสงยูวี, Ultra Violet) และเรตินอยด์ (Retinoid เป็นสารเคมีที่มีลักษณะของวิตามินเอ) การทำให้ผิวขาวขึ้นก็อาจจะมีการจัดการด้วยการลอกผิว (ดูเรื่อง การลอกผิวด้วยสารเคมี) อีกด้วยก็ได้

ในการพยายามทำให้ผิวมีสีอ่อนลง (ขาวขึ้นนั่นเอง) มีการจัดการตามลำดับของการพัฒนาและออกฤทธิ์เดชของเม็ดสีเมลานินดังนี้

1. ขั้นก่อนการสร้างเม็ดสีเมลานิน
ในเมื่อเรารู้แล้วว่า เม็ดสีเมลานินนี้เองที่มีสีเข้มคล้ำ และเป็นตัวการที่จะทำให้สาวๆ มีสีผิวเข้มคล้ำลง ถ้าเราสามารถจัดการไม่ให้เซลล์ผิวของเราสร้างเม็ดสีนี้ขึ้นได้ นั่นก็น่าจะหมายความว่าสีผิวไม่น่าจะมีสีคล้ำได้ ตัวยาพวกเตรติโนอิน (Tretinoin เป็นรูปกรดของวิตามินเอ หรือรู้จักกันดีในชื่อของ all-trans retinoic acid หรือ ATRA) ปกติแล้วจะใช้ในการรักษาโรคผิวหนังบางอย่าง การใช้ยานี้จะต้องหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดเนื่องจากผิวจะไวแสงและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำดำได้ง่ายมาก ตัวอย่างของเตรติโนอินก็เช่น Aberela, Airol, Renova, Atralin, Retin-A เป็นต้น การใช้จะต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญนะคะ

2. ขั้นระหว่างการสร้างเม็ดสีเมลานิน
ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
เป็นสารเคมีที่ช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ สารประกอบไฮโดรควิโนนมีฤทธิ์รุนแรงในการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระที่จะไปกระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ให้ไปเร่งการผลิตเม็ดสีเมลานิน ปกติแล้วจะใช้ในความเข้มข้น 2% ในเครื่องสำอางทั่วไป หรือถ้าเข้มข้นกว่านั้นก็จะต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์ บางทีมีการผสมกับเตรติโนอินในระดับ 0.5-1% ด้วย การวิจัยพบว่าไฮโดรควิโนนและเตรติโนอินสามารถป้องกันฝ้าที่เกิดจากแสงแดดหรือจากฮอร์โมนได้ด้วย ไฮโดรควิโนนสามารถทำให้ผิวมีสีอ่อนลงได้ แต่จะไม่ได้ฟอกให้ขาว อย่างไรก็ตามในหลายประเทศไม่ยอมให้มีการใช้ไฮโดรควิโนนในเครื่องสำอางเนื่องจากความกลัวว่าจะมีผลต่อการเกิดมะเร็ง และการใช้ในความเข้มข้นที่สูงอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองได้

อาบูติน (Arbutin)
มาดูของที่มาจากธรรมชาติกว่ากันบ้าง อาบูตินเป็นสารสกัดจากพืชที่เป็นแหล่งธรรมชาติของไฮโดรควิโนนอีกทีหนึ่งที่เรียกว่า hydroquinone-beta-D-glucoside ซึ่งมีฤทธิ์ในการสกัดการสร้างเม็ดสีเมลานิน โดยที่รูปบริสุทธิ์ของมันจะทำงานได้ดีมาก (alpha-arbutin, beta-arbutin, and deoxy-arbutin) โดยอาบูตินมีความปลอดภัยมากกว่าไฮโดรควิโนนและรูปที่เป็นอัลฟาอาบูติน (Alpha-arbutin) จะเสถียรกว่าเบต้าอาบูติน (Beta-arbutin) และเป็นที่นิยมกว่าในการนำมาทำตัวยาทำให้ผิวใสกระจ่างขึ้น

กรดโคจิก (Kojic acid)
ใครจะนึกถึงว่า กิจกรรมบางอย่างเช่นการหมักสุรา (แปลว่าเหล้านั่นแหละค่ะ) ก็จะมีผลพลอยได้ที่ดีต่อผิวพรรณของสาวๆ เราด้วย กล่าวคือกรดโคจิกเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการหมักในการทำเหล้าสาเกของญี่ปุ่นที่มีงานวิจัยแสดงว่าสามารถขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส จึงป้องกันการสร้างเม็ดสีเมลานินได้เช่นกัน แต่น่าเสียดายที่เจ้ากรดโคจิกนี่มันไม่เสถียรเมื่อนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง โดยเมื่อกระทบกับแสงแดดมันจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเสื่อมประสิทธิภาพลง ดังนั้นผู้ผลิตเครื่องสำอางจึงได้เปลี่ยนมาใช้โคจิกไดพาลมิเตท (Kojic dipalmitate) ซึ่งเสถียรกว่าแทน อย่างไรก็ดีมีการวิจัยบางอย่างที่ทำกับสัตว์ทดลองโดยการให้กรดโคจิกจำนวนมากเป็นเวลา 26 สัปดาห์และพบว่ามีความผิดปกติกับตับ (เนื้องอก) สำหรับในมนุษย์บางรายงานก็แจ้งว่าปลอดภัย แต่การใช้ในปริมาณสูงเกินไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้ค่ะ

กรดอาซเลอิก (Azelaic acid)
เป็นสารที่สกัดจากธัญพืชเช่นข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ เป็นต้น ในเครื่องสำอางมีการใส่กรดนี้ที่มีความเข้มข้นประมาณ 20% โดยทั่วไปจะใช้ในการรักษาสิว แต่งานวิจัยพบว่าสามารถมีผลต่อการรักษาผิวที่มีสีผิดปกติได้ด้วย และการศึกษาอื่นๆ แสดงอีกว่ากรดอาซเลอิกสามารถขัดขวางการสร้างเม็ดสีเมลานินได้เพราะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส แต่โดยปกติแล้วจะพบว่ากรดนี้มีประสิทธิภาพดีในการลดการผลิตเม็ดสีที่ "มากเกินไป" จากเซลล์ผิวหนังเมลาโนไซต์ (Melanocyte) แต่จะไม่ค่อยมีผลในการลดการผลิตเม็ดสีตามปกติบนผิวหนังที่ปกติเช่น กระที่เกิดไปตามอายุที่มากขึ้นเท่าไรนัก ในอเมริกามีการใช้กรดอาซเลอิกความเข้มข้น 20% ในการรักษาสิวและพบว่าความเข้มข้นขนาด 20% นี้ก็จะให้ผลพอๆ หรือดีกว่าไฮโดรควิโนนที่ 2% ซึ่งจากเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของไฮโดรควิโนน จึงทำให้กรดอาซเลอิกมีความน่าสนใจกว่าในการนำมาใช้

วิตามินซี (Vitamin C)
วิตามินซีมีหลายรูปมากไม่ว่าจะเป็น Magnesium ascorbyl phosphate, L-ascorbic acid, ascorbyl glucosamine, หรือ ascorbic acid เป็นสารที่เสถียรมากและรู้กันดีว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านอนุมูลอิสระสำหรับผิว แต่ก็มีงานวิจัยจำนวนน้อยมากที่แสดงถึงผลดีของมันต่อการยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน แต่เนื่องจากความสามารถในการยับยั้งอนุมูลอิสระได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะช่วยชะลอการสร้างเม็ดสีเมลานิน แต่อย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินซีก็เกิดประโยชน์มากอยู่แล้วล่ะค่ะ

กลูตาไธโอน (Glutathione)
กลูตาไธโอนเป็นไตรเปปไทด์ (Tripeptides คือการโยงเข้าด้วยกันของโพลิเมอร์ขนาดสั้นๆ ด้วยพันธะเคมีแบบเปบไทด์) ของกรดอะมิโน 3 ตัว คือ ซิสทีน (cysteine), กรดกลูตามิก (glutamic acid) และไกลซีน (glycine) ตัวมันจะทำหน้าที่เร่งการเปลี่ยน DOPAquinone ไปเป็นฟีโอเมลานิน (Pheomelanin) ซึ่งมีสีเหลือง-แดง แทนที่จะเหลือปล่อยให้ผ่านกระบวนการอื่นจนกลายเป็นเป็นยูเมลานิน (Eumelanin) ซึ่งมีสีน้ำตาล-ดำ ดังนั้นจึงสามารถช่วยให้ผิวไม่คล้ำได้ (ดูรายละเอียดในเรื่อง กลไกการสร้างเม็ดสีเมลานิน)

3. ขั้นหลังจากการสร้างเม็ดสีเมลานินแล้ว
AHA (เอเอชเอ หรือ Alpha Hydroxy Acid)
กรดเอเอชเอ เป็นกรดที่ได้จากธรรมชาติ เรียกว่ากรดผลไม้ซึ่งมีมากมายหลายชนิด แต่กรดแลกติก (lactic acid) และไกลโคลิก (glycolic acid) จะเป็นที่น่าสนใจในการนำมาทำการวิจัยในการนำมาใช้กับการบำรุงผิวเนื่องจากมีขนาดโมเลกุลที่เล็กและสามารถแทรกซึมลงไปในชั้นบนของผิวหนังได้ดี มีงานวิจัยบางชิ้นบอกว่ากรดแลกติกและไกลโคลิคสามารถช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ ในขณะที่งานวิจัยอื่นได้ผลว่ากรดพวกนี้ที่มีความเข้มข้น 4-15% จะไม่ได้มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานินแต่อย่างไร แต่ว่าการใช้กรด AHA นี้จะมีผลโดยอ้อมคือการที่มันสามารถลอกเอาเซลล์ผิวที่ตายแล้วด้านบนสุดออก โดยที่เซลล์ผิวด้านบนสุดนี้เองเป็นบริเวณที่มีการกระจุกตัวของเม็ดสีเมลานินมากที่สุด นอกจากการลอกเซลล์ผิวที่ตายแล้วด้านบนสุดออกไปจะเป็นการลอกผิวที่น่าจะมีสีคล้ำออกไป ก็ยังเป็นการให้โอกาสเซลล์ใหม่ที่มีชีวิตชีวาดีกว่าได้เกิดขึ้นมาด้วย

เนียซีอาไมด์ (Niacinamide)
เจ้าตัวนี้มีอีกชื่อหนึ่งคือนิโคตินอาไมด์ (Nicotinamide) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มวิตามินบีซึ่งละลายน้ำได้ และนับได้ว่ามีความปลอดภัยสูง บางทีนำมาใช้ในการทำให้ผิวบริเวณที่เร้นลับขาวขึ้น และบริษัทเครื่องสำอางมักจะบอกว่าไม่ได้มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์และสามารถลดการเกิดสิวได้ นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวและลดรอยเหี่ยวย่นได้ ลองอ่านเรื่อง จะลดหน้ามันได้อย่างไร) ซึ่งอธิบายข้อดีของวิตามินบี 5 ไว้ด้วย

สารฟอกสี (Depigmenting agents)
ถ้าพูดเรื่องสีผิวที่คล้ายถูกฟอกจนขาวผิดปกติ ก็มักจะหมายถึงสีผิวบางบริเวณของผู้ที่มีอาการทางผิวหนังบางอย่างตั้งแต่กำเนิด (vitiligo) คือเม็ดสีที่บางบริเวณของผิวจะมีสีขาว โดยบริเวณใกล้ๆ กันกลับเป็นสีดำคล้ำกว่า ผู้ที่มีความผิดปกติแบบนี้อาจจะต้องการทำให้ผิวมีสีต่อเนื่องกันมากขึ้นโดยการใช้สารประกอบอินทรีย์บางอย่างเช่น โมโนเบนโซน (Monobenzone) เพื่อลดสีผิวที่เข้มส่วนที่เหลือลง อย่างไรก็ตามโมโนเบนโซนอาจจะทำให้เกิดการทำลายเซลล์ผิวหนังเมลาโนไซต์ (Melanocyte) และทำลายเม็ดสีอย่างถาวร อีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดเม็ดสีลงได้คือ เมควินอล (Mequinol) โดยใช้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ตามก็ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมีพวกนี้โดยหวังว่าจะทำให้สีผิวขาวขึ้นยกเว้นแต่ผู้ที่มีความผิดปกติด้านผิวมาแต่กำเนิดนะคะ

สารปรอท (Mercury)
นี่เป็นสิ่งที่สาวๆ จะต้องระวังกันเลยทีเดียวนะคะ เครื่องสำอางบางอย่างที่อ้างว่าสามารถทำให้ผิวขาวได้มีการใส่สารปรอทลงไปเพื่อเป็นสารออกฤทธิ์ อาจจะอยู่ในรูปของคลอไรด์หรือผสมกับแอมโมเนียก็ได้ (Mercury chloride หรือ Ammoniated mercury) อย่างไรก็ตามสารปรอทถูกห้ามใช้ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออเมริกาที่จะนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความขาวเนื่องจากจะเกิดการสะสมในผิวหนังและได้ผลที่ตรงกันข้ามในระยะยาวได้ นอกจากนั้นยังมีผลเสียอื่นๆ อีก ดังนั้นก่อนจะเลือกหาผลิตภัณฑ์เพิ่มความขาว สาวๆ ก็จะต้องระวังว่ามีการใส่สารปรอทลงไปหรือไม่ด้วย

เป็นอย่างไรบ้างคะ ตอนนี้สาวๆ ก็ได้ทราบกันแล้วว่าสารเคมีหรือตัวยาต่างๆ ที่ผสมอยู่ในสารเพิ่มความขาวนั้นมีอะไรกันบ้าง และมีฤทธิ์ทำให้เกิดอะไร รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จะได้เลือกใช้และระมัดระวังได้ดียิ่งขึ้นนะคะ