เทคนิคปรุงอาหารผักสำหรับลูกน้อย


ใครๆ ก็พอจะทราบกันนะคะว่าผัก ผลไม้ เป็นอาหารที่จำเป็นกับสุขภาพที่ดีของมนุษย์ ในขณะที่ดูเหมือนจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคุณหนูๆ ของเรา แต่ไม่เป็นไรค่ะเพราะเราสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นศัตรูนี้ลงได้ ซึ่งคราวที่แล้วเราได้คุยกันเรื่องของการเลือกผักสำหรับคุณหนูๆ ไปแล้วนะคะ คราวนี้ Womanandkid จะนำเสนอวิธีการในการนำผัก มาปรุงอาหารให้คุณหนูๆ ไม่เบือนหน้าหนีเจ้าผักเขียวๆ ไปเสียก่อน โดยเทคนิคนี้เราจะทำการปรุงรสเพื่อให้ดูเหมือนว่า ผักที่ว่าไม่อร่อยนั้น หายไปจากจานของคุณหนูกันเลยเชียวค่ะ ลองมาดูวิธีการกันนะคะ

1. จัดการกับกลิ่น
นอกจากการพยายามเลือกผักที่มีกลิ่นน้อยแล้ว การที่นำผักที่มีกลิ่น (เช่นหอมหัวใหญ่เป็นผักที่มีกลิ่นฉุนและรสเผ็ดบ้าง) มาปรุงโดยผ่านความร้อนจะต้มหรือลวก ก็หมดกลิ่นฉุน แถมยังได้รสหวานเพิ่มมาอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้อาหารอย่างอื่นแต่งกลิ่นได้ เช่น การใช้ไข่แดง ผสมกับอาหารผักเพื่อให้กลิ่นเปลี่ยนไปก็ได้

2. จัดการกับรส
ผักหลายชนิด มีรสที่เด็กๆ ไม่ค่อยชอบ แต่เรื่องรสนี้ก็สามารถแก้ได้ไม่ยากค่ะ เพียงแต่เราเลือกผักในกลุ่มที่มีแป้งมากสักหน่อย ซึ่งผักเหล่านี้เมื่อนำมาปรุงอาหารแล้วจะให้รสหวาน เช่น ปวยเล้ง ฟักทอง แครอท หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ ลูกท้อ กะหล่ำปลี บร็อกโคลี ใบตำลึง ฟักเขียว หัวผักกาด ผักหวาน ข้าวโพดอ่อน ถั่วฝักยาว บวบ หรือจะปรุงรสให้หวานขึ้นสักนิด เด็กๆ ย่อมชอบแน่นอน

3. จัดการกับหน้าตา
เด็กๆ นั้นความจำดีนะคะ อย่าดูถูกกันเลยทีเดียว ถ้าเขาได้เคยทานผัก (อาจจะแค่ หยิบผักสดเล่นใส่ปากโดยที่เราไม่เห็น) แล้วรสชาติไม่ต้องชะตาราศี (แน่นอนล่ะค่ะ ผักสดกับเด็ก ไม่เข้ากันแน่นอน) เขาก็จะจำได้ ต่อไปเห็นอะไรเขียวๆ เป็นท่อนๆ หรือแผ่นๆ ก็จะไม่ยอมนำเข้าปากโดยง่ายแน่ ดังนั้นวิธีง่ายๆ ที่ใช้ได้ผลดีก็คือการหั่น แต่น้องหนูบางคนก็ยังแยกและคายทิ้งได้ ดังนั้นวิธีที่ดีกว่านั้นก็คือการ สับ บด หรือปั่นให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับอาหารอื่นๆ เช่น เนื้อสัตว์ ข้าว แป้งต่างๆ อาจจะชุบแป้งทอดก็ได้นะคะ ทำให้น้องหนูมองไม่เห็นผักเป็นแผ่นๆ ท่อนๆ อีก คราวนี้ก็จะทานได้โดยง่าย ยิ่งถ้าจัดการทั้งกลิ่่นและรสตามในข้อ 1 และ 2 ด้านบนด้วยแล้ว หนูๆ อาจจะชอบผักไปเลยก็ได้นะคะ