วิธีป้องกันและแก้ไขฝ้า


หลังจากบทความครั้งที่แล้ว ที่ womanandkid ได้เล่าให้ฟังถึงกลไกในการเกิดฝ้าแล้ว เพื่อนๆ คงสงสัยต่อไปว่า แล้วการที่จะป้องกันหรือแม้กระทั่งแก้ไขเมื่อได้เป็นฝ้าแล้วจะต้องทำอย่างไร ลองอ่านบทความนี้ซึ่งจะบอกว่าเป็นภาคสอง ของบทความแรกเรื่อง "ฝ้าและสาเหตุการเกิดฝ้า" ก็ได้ เรามาลองดูกันเลยนะคะว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง

การป้องกันการเกิดฝ้า
ฝ้าเกิดจากการสร้างเซลล์สีที่ไม่สม่ำเสมอกัน โดยที่ฝ้าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน แต่สุดท้ายก็มีผลทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีในชั้นผิวหนัง เมื่อเราทราบสิ่งที่เป็นสาเหตุที่เป็นไปได้แต่ละอย่างแล้ว ก็จะสามารถป้องกัน (และแก้ไข) ได้ตรงกับสาเหตุมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้อาจได้แก่
1. แสงแดด
ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเชื่อว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด แสงอัลตราไวโอเลตทั้ง ยูวี-เอ และ รวมทั้งแสงธรรมดา (ที่ตามองเห็นได้) เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์ผลิตเม็ดสีทำงานจนเกิดเหตุผิดปกติ จนทำให้เกิด ฝ้า หรือ ทำให้เป็นฝ้ามากขึ้นได้ทั้งสิ้น เมื่อจำเป็นต้องออกแดด สาวๆ จำเป็นที่จะต้องทาครีมกันแดด พร้อมกับพยายามใช้อุปกรณ์กันแสงแดด เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ร่ม หรือใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดได้มิดชิด

2. ฮอร์โมน
ฮอร์โมนที่มากหรือน้อยเกินไป หรือที่ผิดปกติไป ก็จะทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานผิดปกติได้ การเปลี่ยนสมดุลของฮอร์โมนนี้อาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย เช่น การตั้งครรภ์ วัยหมดประจำเดือน หรือได้รับ ฮอร์โมน จากภายนอกร่างกายเช่น รับประทานยาคุมกำเนิด การใช้ เครื่องสำอาง บางชนิดที่มี ฮอร์โมน ผสมอยู่ จึงมักพบผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดหรือตั้งครรภ์เป็นฝ้าได้บ่อย สาวๆ จะต้องคอยสังเกตว่าตัวเองเป็นฝ้าเมื่อได้ใช้ยาคุมกำเนิดหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นอาจจะต้องหยุดยาที่ใช้อยู่ แต่ส่วนผู้ที่ตั้งครรภ์นั้น ฝ้าสามารถที่จะจางหายไปได้เองเมื่อได้คลอดแล้ว แต่บางกรณีก็จะไม่จางหายไปได้ง่ายๆ ก็จะต้องรักษาแก้ไขต่อไป

3. ยาบางชนิด
พบว่าผู้ที่รับประทานยากันชักบางชนิด มักเกิดผื่นดำคล้ายรอย ฝ้า ที่บริเวณใบหน้า จึงเชื่อว่ายานี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเกิด ฝ้า นอกจากนั้นยังมียาอีกหลายชนิดที่อาจจะทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกัน ดังนั้นในการใช้ยาก็จะต้องปรึกษาแพทย์ก่อนว่ายานั้นสามารถมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดฝ้าได้หรือไม่อย่างไร ลองดูบทความเรื่อง "ฝ้าและสาเหตุการเกิดฝ้า" ซึ่งจะมีรายชื่อยาที่มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดสีค่ะ

4. เครื่องสำอาง
การแพ้ส่วนผสมในเครื่องสำอางอาจทำให้เกิดรอยดำแบบ ฝ้า ได้ ส่วนผสมเหล่านี้อาจเป็นพวกสารให้กลิ่นหอม หรือ สี ก็ได้ ดังนั้นสาวๆ จะต้องระวังให้ดีในการเลือกใช้เครื่องสำอาง อาจจะต้องทดลองใช้ก่อนเป็นบางบริเวณ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผลร้ายกับเซลล์เม็ดสีของตัวเอง

5. พันธุกรรมและสภาวะโภชนาการบกพร่อง
เชื่อว่าพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นฝ้าด้วย เนื่องจากมีรายงานว่าเป็นในครอบครัวได้ถึง ร้อยละ 30-50 ในขณะที่่ร่างกายที่มีสภาวะของร่างกายที่มีสภาวะโภชนาการบกพร่อง ก็อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากอาจจะพบผื่นแบบ ฝ้า ในผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติ หรือ ผู้ที่ขาดวิตามิน บี12 เป็นต้น

การรักษาฝ้า
โดยพื้นฐานแล้ว การรักษาฝ้าจะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่นฝ้าที่เกิดจากการถูกแสงแดดที่มีรังสียูวี (UV, ultraviolet, รังสีเหนือม่วง) ก็จะต้องแก้ไขด้วยการไม่ถูกแสงแดดโดยตรงโดยไม่มีการป้องกันมากเกินไป หรือผู้ที่ใช้ยาต่างๆ ก็จะต้องหยุดยานั้นและเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน หลังจากนั้นก็อาจจะต้องใช้ยาช่วยในการรักษาฝ้าด้วยอีกชั้นหนึ่ง ส่วนในเรื่องของการใช้ยาช่วยนั้น หากเป็นน้อยแพทย์จะให้ AHA (ดูเรื่อง AHA ได้ในเรื่อง "อะไรในเครื่องสำอางที่ทำให้ดูอ่อนวัย" ที่นี่) ร่วมกับครีมที่มีส่วนผสมของวิตามินบีให้ฝ้าจางลง หากเป็นมากก็จะใช้ครีมที่แรงขึ้น โดยมีส่วนผสมของสารไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอและสเตียรอยด์ ซึ่งจะหยุดยั้งการสร้างเม็ดสีโดยไม่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี แต่ต้องใช้อย่างต่อเนื่องทุกวันฝ้าจะค่อย ๆ จางลง หากหยุดยาฝ้าก็จะเข้มขึ้น

การรักษาฝ้าด้วยวิธีทางกล
เป็นการขจัดฝ้าที่กระทำกับผิวโดยตรง เช่นการลอกผิวด้วยสารเคมี (chemical peeling), การเร่ง ผลัด เซลล์ผิวโดยการใช้กรดธรรมชาติ (เช่น AHA), การกรอผิวเพื่อนำชั้นหนังกำพร้าออกไป (dermabrasion), และการใช้วิธีการอื่นเช่นเลเซอร์ แต่จะทำเฉพาะในรายที่แพทย์เห็นสมควร

ยาและสารชนิดต่างๆ ที่ใช้รักษาฝ้า

ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
ความเข้มข้นไม่เกิน 2% จะออกฤทธิ์ลดการสร้างเมลานิน โดยขัดขวางเอนไซม์ไทโรซิเนสในการออกซิไดซ์ไทโรซิน มิให้เปลี่ยนเป็นโดพาในขั้นตอนแรกของการสร้างเมลานิน ผลที่เกิดขึ้นคือลดการสร้างเมลานิน สารนี้เคยเป็นที่นิยมในโลชั่นป้องกันฝ้า แต่ผลที่ได้เป็นผลเพียงชั่วคราว หากหยุดใช้จะกลับเป็นอีกหรือเป็นมากกว่าที่เคย ข้อดีคือไม่ทำลายเซลล์สร้างสี ไฮโดรควิโนนมักทำให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับกรดวิตามินเอ และหากใช้ไฮโดรควิโนนติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 6 เดือน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อภายในผิวหนังทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรสีน้ำเงินอมดำ ดังนั้น ไฮโดรควิโนนจึงถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางอีกต่อไป

กรดโคจิก (Kojic Acid)
กรดโคจิกความเข้มข้นร้อยละ 1-3 มักใช้ในผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวหน้าขาว กรดนี้ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสเพื่อลดการสร้างเม็ดสีเมลานิน ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำให้หน้าขาว บางสูตรใช้สำหรับเอสเทอร์ของโคจิก เช่น โคจิกไดพาร์มิเตต เอนไซม์เอสเทอเรส ที่ผิวหนังทำให้กรดโคจิก ถูกปล่อยออกมาอย่างช้าๆ จาก เอสเทอร์ของกรดโคจิก

เบต้า อาร์บูติน (Beta - Arbutin)
โดยปกติใช้กันที่ความเข้มข้นประมาณ 3-7% และมักจะอยู่ในผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว มีวิธีการได้มา 2 วิธีคือ จากการสังเคราะห์ทางเคมีและจากการสกัดจากพืช ออกฤทธิ์โดยแย่งโดพาในการเข้าทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ไทโรซิเนส มีผลต่อการยับยั้งการสร้างเมลานินไม่เป็นพิษต่อเซลล์สร้างเมลานินทำให้ผิวหน้าขาวขึ้นและมีความปลอดภัยสูง อาร์บิวตินไม่สลายเป็นไฮโดรควิโนนโดยเอนไซม์ในผิวหนังมนุษย์ ไม่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและอาการข้างเคียงใดๆ ทั้งยังคงสภาพต่อแสงแดดได้ดีกว่าไฮโดรควิโนนและได้ผลดีกว่ากรดโคจิก

อัลฟาอาร์บูติน (Alpha Arbutin)
เป็นสารที่ละลายได้ในน้ำ จึงไม่เสถียร สลายตัวได้ง่าย สามารถใช้ได้ในผิวทุกชนิด ทำหน้าที่ยับยั้งการรวมตัวของเอนไซม์ไทโรซีน (Tyrosine) และ โดพา (DOPA) กับออกซิเจน ซึ่งกระบวนการนั้นจะเป็นกระบวนการในการผลิตเม็ดสีเมลานิน (Melanin) นับว่าเป็นการยับยั้งที่ต้นเหตุและเป็นที่นิยมอย่างมากในผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว ไม่มีผลในการผลัดเซลล์ผิวนั่นคือไม่ทำให้ผิวบางลงเหมือนอย่างพวกกรด AHA, Retin-A, หรือกรดวิตามิน A อื่นๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การยับยั้งการสร้างเม็ดสี หรือการผลัดเซลล์ผิว ย่อมมีผลให้ผิวไวต่อแสงเหมือนกันทั้งนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ครีมกันแดด SPF30 ที่กันได้ทั้ง UVA และ UVB

เป็นอย่างไรบ้างคะ หลังจากที่สาวๆ ได้อ่านบทความนี้ ไม่ว่าจะมีอาการเป็นฝ้าอยู่แล้วหรือไม่ก็ตาม ก็คงจะพอสบายใจได้มากขึ้น ว่าสามารถที่จะรักษาฝ้าที่เกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม womanandkid ขอแนะนำว่า การป้องกันนั้นย่อมดีกว่าแก้ สาวๆ ต้องพยายามรักษาผิวหน้าให้ดี เพื่อที่จะมีใบหน้าที่สดใสโดยที่ไม่ต้องมานั่งแก้ไขกันภายหลังค่ะ