ฝ้าและสาเหตุการเกิดฝ้า


เมื่อพูดถึงคำว่า "ฝ้า" สาวๆ เกือบทุกคนถึงกับต้องร้องยี้ หรือบางคนอาการหนักกว่านั้นอาจจะถึงกับจิตตกไปเลยก็ได้นะคะ ด้วยความที่ฝ้านั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วการรักษาทำได้ไม่ง่ายนัก คราวนี้ womanandkid จะมาแนะนำให้ความรู้กับสาวๆ ว่าฝ้านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อที่ว่าเมื่อเรารู้แล้ว เราก็จะสามารถหาทางป้องกันได้ดีขึ้น ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย จริงไหมล่ะคะ

ฝ้าเกิดได้อย่างไร
สิ่งที่เรียกว่า ฝ้า ก็คือการที่สีของผิวหนังบริเวณหนึ่งๆ ผิดปกติไป ในการจะทำความเข้าใจได้จริงๆ เราก็ควรเข้าใจสิ่งที่ทำให้เกิดสีของผิวหนังเสียก่อน โดยสีของผิวจะเกิดจากสารหรือเม็ดสีเมลานิน (melanin) ซึ่งถูกสร้างมาจากเซลล์ผิวหนัง (เมลาโนไซต์ - melanocyte) ซึ่งเจริญมาจากเซลล์ระบบประสาท โดยแฝงตัวอยู่ที่ด้านล่างสุดของชั้นหนังกำพร้า โดยที่เซลล์ผิวหนังหนึ่งเซลล์จะมีแขนงไปแตะจับกับเซลล์ผิวหนังอีกราวๆ 30-40 เซลล์ เมื่อเกิดเหตุใดๆ ก็ตามที่ทำให้เม็ดสีเหล่านี้ผิดปกติไป ก็จะทำให้สีของผิวบริเวณนั้นผิดปกติไป ถ้ามีลักษณะเป็นแผ่นปื้น ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "เป็นฝ้า" นั่นเอง

ฝ้ามีอยู่สามชนิดคือ
1. ฝ้าแบบตื้น (Epidermal) จะอยู่ในระดับผิวหนังกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอก) มักมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลขอบชัด เกิดได้ง่าย และสามารถรักษาให้หายได้เร็ว และอีกชนิดคือ
2. ฝ้าแบบลึก (Dermis) จะมีอาการผิดปกติ อยู่ในชั้นที่ลึกกว่าชนิดแรก โดยจะเกิด ฝ้า ในระดับที่ลึกกว่าผิวหนังกำพร้า จะเกิดความผิดปกติในระดับชั้นผิวหนังแท้ มีลักษณะเป็นสีม่วงๆ อมน้ำเงิน ขอบเขตไม่ชัด รักษาได้ยากกว่า ฝ้าชนิดตื้น และไม่ค่อยหายขาด
3. แบบผสม คือมีทั้งสองแบบปนกันอยู่ในผิวเดียวกัน

ฝ้าเกิดเนื่องมาจากความผิดปกติของเม็ดสีที่ผิว
ฝ้า หรือสิ่งที่ดูคล้ายๆ ฝ้าและอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นฝ้า ก็มีอยู่บ้างนะคะ แต่ถ้าเป็นฝ้าจริงๆ แล้วก็มักจะเป็นเมื่ออายุมากขึ้น เราสามารถรวบรวมความผิดปกติที่เกิดกับเม็ดสีของผิว (โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า) ได้ดังต่อไปนี้นะคะ
1. เกิดจากโรคผิวหนังบางชนิด
การอักเสบที่เป็นอยู่นานๆ สามารถเป็นสาเหตุหนึ่งที่มักจะถูกลืมไปเลยในการเป็นรอยด่างดำบนผิวหน้าได้ เมื่อการอักเสบหายไปแล้ว ก็จะทิ้งร่องรอยเอาไว้บนใบหน้าเราได้ การติดเชื้อบางอย่างก็ง่ายเหลือเกินเช่นสิวอักเสบแล้วเป็นอยู่เวลานานๆ  นอกจากนั้นก็ยังมีโรคผิวหนังบางอย่างอีกเช่น
Riehl's melanosis โรคปื้นร่างแหสีน้ำตาล มักเห็นชัดที่บริเวณหน้าผาก ขมับ โหนกแก้ม คาง และ คอ อาจจะเกิดจากการแพ้เครื่องสำอางได้
Poikiloderma of Civatte โรคเส้นเลือดฝอยแตกขยายผิดปกติที่บริเวณคอ
Erythromelanosis follicularis โรคที่มีลักษณะเป็นผื่นแดงตามโหนกแก้ม
Linear Fusca เป็นภาวะที่มีลักษณะเป็นเส้นสีเข้มที่พาดบริเวณหน้าผาก

2. การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้เกิดฝ้า
ยาบางชนิดสามารถไปกระตุ้นผิวหนังให้ไวต่อแสงแดด ในขณะที่ยาบางชนิดอาจจะทำให้เกิดฝ้าได้โดยตรงโดยที่ไม่ต้องได้รับการช่วยกระตุ้นจากแสงแดดเลย ยาที่มักจะพบว่ามีผลต่อการเกิดฝ้าคือ
ยาคุมกำเนิดบางชนิด
ยาแก้อักเสบเช่นเตตร้าไซคลิน (tetracyclines)
อะมิโอดาโรน (Amiodarone) ซึ่งเป็นยาที่มีผลกับการทำงานของหัวใจ
ฟินนีโทอีน (Phenytoin) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคลมชักชนิดต่างๆ
ฟิโนเธียซีน (Phenothiazines) เป็นยาที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาท มีผลทำให้ง่วงนอน
ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) ที่ทำหน้าที่ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด

3. เกิดจากแสงแดด (มีรังสีอุลต้าไวโอเล็ต - UV, Ultraviolet) สามารถทำให้เกิดฝ้าบางชนิดได้
ฝ้า (Melasma) มีลักษณะเป็นแผ่นสีน้ำตาล เกิดบนใบหน้าบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก จมูก เหนือริมฝีปาก โดยเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีเมลานินในบริเวณผิวหนังทำงานผิดปกติ และส่งเม็ดสีขึ้นมาบนผิวหนังด้านบนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้ความเข้มของสีผิวไม่สม่ำเสมอและมองเห็นได้จากภายนอก เม็ดสีเมลานินนี้มีหน้าที่พิเศษคือกรองรังสีเหนือม่วง หรือ อุลตร้าไวโอเล็ต (UV - Ultraviolet) ดังนั้นยิ่งเราตากแดดมากขึ้น ร่างกายก็จะสร้างเม็ดสีเมลานินเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดยที่รังสี UVA (รังสี UV ชนิด A เป็นรังสีที่มีช่วงคลื่นยาว พลังงานต่ำ) จะกระตุ้นให้เซลล์ melanocytes สร้างเม็ดสีเมลานินได้โดยตรง, กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ Tyrosinase ให้ทำงานได้มากขึ้น, และทำให้เซลล์ผิวหนัง (keratinocyte) รับสารเมลานินได้มากขึ้นส่งผลให้สีผิวเข้มขึ้น จึงทำให้เกิดผิวสีคล้ำ เกิดฝ้า หรือ กระ และรังสี UVB (รังสี UV ชนิด B มีช่วงคลื่นสั้น พลังงานสูง) จะทำให้การทำงานประสานกันของเซลล์ melinocyte และเซลล์ keratinocytes ได้ดีขึ้นในการรับส่งเม็ดสีเมลานิน ถ้าได้รับมากๆ สามารถทำให้เกิดผิวไหม้ บวมแดง และหากได้รับรังสีเป็นระยะเวลายาวนาน อาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
กระแดด (Solar lentigines) มักจะเกิดในคนที่อายุมากและมีประวัติการถูกแสงแดด อาจจะเริ่มจากจุดเล็กแล้วอาจขยายใหญ่ได้มาก (ถ้า lentigines จะหมายถึงขี้แมลงวันค่ะ เป็นคำคล้ายๆ กันอาจจะทำให้สับสนได้)
กระ (ephelides) หมายถึงจุดสีน้ำตาลที่มักมีขนาดเล็กกว่า 0.5 ซม. เกิดจากการมีเม็ดสีเมลานินมากกว่าปกติ พบที่บริเวณใบหน้าและบริเวณที่โดนแสงแดดบ่อยๆ และมักมีสีเข้มขึ้นในฤดูร้อนและจางลงในฤดูหนาว เพราะแสงแดดโดยเฉพาะรังสี UV-B เป็นตัวกระตุ้นให้กระเข้มขึ้น

4. สาเหตุอื่นๆ ของการเป็นฝ้า
นอกจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีโรคหรือภาวะบางอย่างที่สามารถทำให้เกิดฝ้าได้เช่นกันก็คือ
การตั้งครรภ์
โรคตับ
โรคแอดดิสัน (พบได้น้อยมาก เกิดจากต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนสเตอรอยด์ได้น้อยกว่าปกติ)
อีโมโครมาโทซิส (Hemochromatosis) เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ที่เกิดจากการสะสมของเหล็กในกระแสเลือด จนทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ตับ
เนื้องอกใต้สมอง
เป็นอย่างไรบ้างคะ จะเห็นว่าฝ้านั้นมีสาเหตุการเกิดได้หลายอย่างเชียว ในบทความต่อไป womanandkid จะแนะนำในเรื่องของการป้องกันและรักษาฝ้า เพื่อให้สาวๆ มีสุขภาพผิวหน้าและใบหน้าที่สดสวยกันไปนานๆ ค่ะ