ในโลกปัจจับัน โดยเฉพาะกับผู้หญิงวัยทำงาน ดูเหมือนจะได้รับบทบาทในการทำภารกิจที่มีความยากและปริมาณงานที่ไม่ต่างไปกับผู้ชายสักเท่าไรนัก ผู้หญิงหลายคนทำงานหนักกว่าผู้ชายด้วยซ้ำไปก็มีมาก บางครั้งการทำงานหนักจนคร่ำเคร่งก็กลายเป็นความเคยชิน ในขณะที่ใครๆ ก็ทราบดีว่าความเครียดที่สูงเกินไปนั้นเป็นอันตรายกับสุขภาพแต่กลับละเลยไป ในบทความตอนนี้เราจะชวนมาดูสาเหตุของความเครียด ผลที่จะเกิดขึ้น และวิธีการจัดการกับมันกันค่ะคุณเสพติดความเครียดหรือเปล่า
เป็นเรื่องที่น่าตกใจเอามากๆ ถ้าจะบอกว่าคนเราหลายคน (ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายนะคะ) ในปัจจุบันที่ทำงานกันอยู่นี้ เข้าข่ายเสพติดความเครียดโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะจากการทำงานหนักให้เจ้านาย ให้เพื่อน หรือลูกน้องเห็น การทำงานหนักกลับบ้านค่ำมืดหรือดึกกลายเป็นสิ่งที่คิดว่าทำแล้วดูดีในสายตาคนอื่น เป็นคนสำคัญต่อองค์กรหรือที่ทำงาน แต่จริงๆ แล้วเป็นการตอบสนองความคิดว่าการทำอย่างนั้นจะทำให้คนอื่นดูว่าทำงานหนัก เก่ง คือเป็นการตอบสนองความต้องการของตัวเองนั่นเอง นอกจากนี้การคร่ำเคร่งทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) และ คอร์ทิซอล (Cortisol) ซึ่งหากเกิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้ว จะเป็นผลร้ายต่อร่างกายเราได้
ผลที่เกิดขึ้น
เมื่อเราเครียดซึ่งเป็นลักษณะอาการเดียวกันการการตกใจหรือกลัว ร่างกายจะหลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) และ คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งทั้งสองตัวนี้จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น พลังงานของร่างกายจะถูกถ่ายเทจากกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดน้อย กว่า (เช่นระบบภูมิคุ้มกัน) ไปยังกิจกรรมที่จำเป็นต่อการอยู่รอดมากกว่า (เช่น เพิ่มพลังงานในการวิ่งเพื่อหนีภัยคุกคาม) ในทางชีววิทยาแล้ว คอร์ติซอลจะขัดขวางการทำงานของอินซูลิน และไปเพิ่มการสร้างไกลโคเจน (Glycogen) ในตับ นอกจากนั้นยังไปมีผลต่อการลดระดับของคอลลาเจน (Collagen - ตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวหนังเต่งตึง) ที่ผิวหนัง ลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน สุดท้ายเมื่อเราเครียดมากๆ ก็ลงเอยด้วยการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย และร่างกายทรุดโทรมดูแก่ก่อนวัยอย่างรวดเร็วค่ะ
วิธีจัดการกับความเครียด
สำหรับหลายๆ คนที่เรียกได้ว่าเสพติดความเครียดแล้ว ผู้ที่จะช่วยให้หลุดรอดพ้นไปได้ก็คือตัวเองนั่นแหละค่ะ สิ่งที่ต้องทำก็คือการปรับทัศนคติเสียใหม่ว่า คนเราสามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยไม่ต้องเครียดนักก็ได้ อาจจะโดยการใช้สมอง หรือวิธีให้ดีขึ้น วิธีที่ฉลาดขึ้น วิธีที่ไม่ทำในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือไม่เสียเวลาไปกับสิ่งไร้สาระจนกระทั่งเหลือเวลาให้ทำสิ่งที่เป็นสาระสำคัญเพียงน้อยนิด (แล้วก็มานั่งเครียดเพราะว่าถูกบีบด้วยเวลา) หรือแม้แต่หาผู้ช่วย หาทีมงานมาช่วย แบ่งงานให้คนอื่นช่วยกันทำบ้างโดยไม่เป็นนางเอก (หรือพระเอก) แบกรับไว้คนเดียว นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของการบริหารเวลา โดยทำการจดสิ่งที่ต้องทำลงบนกระดาษ (จะได้ไม่ต้องจำ เพราะบางครั้งความเครียดเกิดจากสาเหตุง่ายๆ คือเราต้องแบ่งสมองมาเพื่อแบกภาระในการจำ ทั้งที่ไม่จำเป็น) แล้วจัดลำดับความสำคัญของสิ่งเหล่านั้น ว่างานไหนจำเป็นต้องทำให้สำเร็จในเวลาใด งานไหนเป็นเรื่องที่สำคัญน้อยรองลงมา ไปจนกระทั่งงานที่อาจจะไม่ทำก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครเดือดร้อน บางทีอาจจะแปลกใจก็ได้นะคะว่า ของสำคัญจริงๆ นั้นมีไม่กี่อย่างเท่านั้นเอง
ความเครียด นิดๆ เป็นเรื่องดีนะคะ เพราะเป็นการกระตุ้นสมองให้ทำงาน แต่ความเครียดในระดับสูงโดยที่คั่งค้างอยู่ตลอดเวลานั้น สามารถฆ่าเราได้เลยทีเดียว บางคนเครียดมากจนมีอาการทางประสาท (เนื่องจากสภาพชีวเคมีของร่างกายผิดเพี้ยนไปอย่างหนัก) แบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น เพราะว่าเราหลีกเลี่ยงได้ และที่สำคัญที่สุด เราสามารถเป็นคนดี ทำงานดี ทำงานเก่ง เพื่อนฝูงรักใคร่ได้ โดยไม่ต้องเครียดอะไรขนาดนั้นหรอกค่ะ