สาเหตุและการแก้ไขอาการตะคริว


เป็นทีไรก็เจ็บบ้าง ปวดบ้าง ทุกที ยิ่งเป็นตอนเข้าด้ายเข้าเข็ม เช่นกำลังว่ายน้ำด้วยแล้ว ยิ่งอาจจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงได้เลยนะคะ วันนี้เรามาดูเรื่องใกล้ๆ ตัวกันที่ใครๆ ก็คงไม่อยากเป็น (แต่ส่วนมากก็เคยเป็นกันทั้งนั้นล่ะ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรมากนัก) แต่ก็ต้องเป็นกันบ้าง มาดูกันว่า ตะคริวนั้นคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และจะป้องกันและแก้ไขได้อย่างไรค่ะ

ตะคริวคืออะไร

อาการตะคริว เป็นอาการที่เกิดกับกล้ามเนื้อค่ะ โดยมากก็มักจะเกิดกับกล้ามเนื้อที่เราบังคับควบคุมได้เช่น แขน ขา น่อง มือ (กล้ามเนื้อที่เราควบคุมไม่ได้ก็เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้นค่ะ) เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อและค้างไว้อย่างนั้น อาการนี้เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจซึ่งสามารถเป็นได้กับทุกคน และมีโอกาสที่จะเป็นมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อาการสามารถที่จะหายได้เองหากมีการยืดกล้ามเนื้อส่วนที่เกิดอาหารตะคริว (เพื่อนๆ คงเคยเห็นบรรดานักกีฬาฟุตบอล ที่มาช่วยกันหัก เอ๊ย ไม่ใช่ จับขา/เท้าของเพื่อนแล้วงอยืดออก ใช่ไหมคะ นั่นล่ะค่ะเป็นวิธีหนึ่งในการแก้ไขอาการตะคริวได้) เมื่อเกิดอาการตะคริว มักจะทำให้เรารู้สึกเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อบริเวณนั้นและไม่สามารถขยับบังคับกล้ามเนื้อนั้นได้ การเป็นตะคริวสามารถเป็นได้ทั้งกับบางส่วนของกล้ามเนื้อหนึ่งๆ หรือทั้งก้อนของกล้ามเนื้อนั้น หรือแม้แต่กล้ามเนื้อหลายชิ้นที่เชื่อมต่อกันอยู่ ตะคริวสามารถเกิดได้โดยใช้เวลาไม่กี่วินาที จนถึง 15 นาทีหรือนานกว่านั้น หรือเกิดหลายๆ ครั้งติดๆ กันก็ได้อีก

สาเหตุการเป็นตะคริว

สาเหตุทั่วๆ ไปของการเป็นตะคริวที่เกิดกับกล้ามเนื้อโครงร่าง (skeletal muscle หรือกล้ามเนื้อลาย) ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจของเรานั้น อาจจะเกิดจากการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ เกิดจากการมีระดับของโซเดียม (sodium) หรือ โปแตสเซียม (potassium) ต่ำเกินไป เกิดจากการที่ร่างกายพบกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ต่างกันมากอย่างรวดเร็ว (เวลาว่ายน้ำเย็นจัด จึงมีโอกาสเป็นตะคริวได้ง่าย) เกิดจากการขาดน้ำ เกิดจากการมีระดับของเกลือในเลือดต่ำเกินไป (เวลาเล่นกีฬาหนักๆ และเสียเหงื่อมาก ร่างกายก็จะเสียเกลือไปด้วย ทำให้เป็นตะคริวได้ง่าย) ตะคริวที่เกิดกับกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle กล้ามเนื้อชนิดนี้จะอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ กระเพาะ ลำใส้ เป็นต้น) อาจจะเกิดได้ในช่วงที่สาวๆ มีรอบเดือนหรือเกิดร่วมกับการที่กระเพาะและลำไส้อักเสบค่ะ อย่างไรก็ตาม การเป็นตะคริวอาจจะมีสาเหตุมาจากการผิดปกติของร่างกายบางอย่างก็ได้ ถ้าเพื่อนๆ เป็นตะคริวโดยไม่ทราบสาเหตุ (เช่น ไม่ได้แช่น้ำเย็น ไม่ได้เป็นรอบเดือน ไม่ได้เล่นกีฬาหรือใช้กล้ามเนื้อมาก เป็นต้น) ก็ควรลองปรึกษาแพทย์ดูนะคะ

การป้องกัน

สำหรับนักกีฬา ก็ควรจะมีการอบอุ่นร่างกายก่อนการเล่นกีฬา และปรับระดับเกลือแร่ในร่างกายให้ถูกต้อง อาจจะต้องมีการดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อช่วยปรับสมดุลด้วย และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอุณหภูมิกระทันหัน เหล่านี้จะช่วยป้องกันการเป็นตะคริวได้ค่ะ

การแก้ไขอาการตะคริว

อย่างไรก็ตาม สมมติว่าได้พยายามป้องกันแล้ว แต่ก็ยังเป็นตะคริวอยู่ดี ก็ไม่ต้องตกใจนะคะ ส่วนใหญ่แล้วตะคริวสามารถหายเองได้ หรือถ้าให้เร็วกว่านั้นก็ต้องพยายามยืดกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นออก (คือทำตรงกันข้ามกับการเป็นตะคริว ที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อ) การปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่ก็สามารถช่วยได้ ในบางกรณีแพทย์อาจจะมีการให้ยาควินิน (Quinine ชนิดเดียวกับที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียนั่นล่ะค่ะ) ซึ่งดูจะได้ผลดี แต่เนื่องจากอาจจะมีผลข้างเคียงได้ จึงควรใช้เมื่อการรักษาทางอื่นไม่ได้ผลแล้ว และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์นะคะ นอกจากนั้นแล้วการรับประทานวิตามินบีรวม (Vitamin B complex) ก็สามารถช่วยได้เช่นกันค่ะ

อย่าลืมนะคะ ตะคริวเป็นได้กับทุกคน และส่วนมากแล้วในชีวิตเราก็จะต้องเป็นกันเกือบทุกคนแหละค่ะ โดยทั่วไปแล้วก็ไม่ได้มีอันตรายอะไรถึงกับชีวิต แต่พอเป็นทีไรก็เจ็บๆ ปวดๆ ทุกที เอาเป็นว่าต้องอบอุ่นร่างกายก่อนการเล่นกีฬา และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทำร่างกายให้สมบูรณ์ไร้โรคภัยต่างๆ เข้าไว้ ก็จะทำให้ห่างการเป็นตะคริวไปอีกนิดหนึ่งค่ะ อิอิ