ไตรกลีเซอไรด์คืออะไร


เพื่อนๆ บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) กันมาบ้างใช่ไหมคะ แต่ที่เคยได้ยินก็คือ ดีหรือไม่ดี เท่านั้นโดยที่อาจจะยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร มาได้อย่างไร มากหรือน้อยอย่างไรควบคุมได้หรือไม่ แล้วทำให้เกิดอะไรได้บ้าง ดังนั้นในบทความนี้ womanandkid ก็จะเสนอเรื่องราวของเจ้า ไตรกลีเซอไรด์ ให้เพื่อนๆ สาวๆ ได้อ่านกันว่ามันคืออะไรกันแน่ค่ะ

รู้จักไตรกลีเซอไรด์กันก่อน

ร่างกายของคนเราจะมีไขมันอยู่ในตัว (ไขมันก็มีประโยชน์นะคะ อย่างน้อยก็มีวิตามินบางตัวเช่น วิตามินอี วิตามินเค ที่ละลายในไขมันเท่านั้น) จากสองแหล่ง ก็คือที่เรารับประทานเข้าไป เหลือใช้ ไม่หมด ก็เหลือค้างอยู่ในตัวเรา หรือจากตับที่สร้างขึ้นมาจาก น้ำตาล แป้ง และแอลกอฮอล์เจ้าไตรกลีเซอไรด์นั้น จัดได้ว่าอยู่ในกลุ่มของไขมัน ที่เรียกว่าอยู่อันดับท้ายๆ จนบางทีคนเราก็หลงลืมไม่สนใจมันไปก็มี แต่ว่ามันเรียกได้ว่าเป็นตัวต้นเหตุในการสร้างอนุภาคที่มีส่วนประกอบเป็นคอเรสเตอรอลที่เรียกว่าไขมันไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำมาก (VLDL หรือ Very Low Density Lipoprotein) ที่สร้างมาจากตับของเราเลยล่ะ โดยที่เจ้า LDL นี้เป็นไขมันชนิดที่ไม่ดีที่มีแนวโน้มที่จะทำให้เส้นเลือดอุดตันได้ (อ่านเรื่องเกี่ยวกับ LDL ได้ที่ ไขมัน ดีหรือไม่ดีกันแน่ ที่นี่)
พูดง่ายๆ ก็คือว่ายิ่งเรามีไตรกลีเซอไรด์มากเท่าไร ตับของเราก็ยิ่งสร้าง VLDL ได้มากเท่านั้น

แล้วทำไมไตรกลีเซอไรด์จึงสำคัญ

หลังจากที่ออกจากตับแล้ว ไขมันไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำมาก (VLDL) ก็จะวิ่งเข้าสู่กระบวนการอันซับซ้อนในกระแสเลือด สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือมีการเปลี่ยน VLDL ไปเป็นโมเลกุลของไขมันแบบ LDL ยิ่งมีไตรกลีเซอไรด์มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมี VLDL มากขึ้นเท่านั้น และการที่มี VLDL มากขึ้นก็ย่อมหมายถึงการมี ผู้ร้ายตัวจริง หรือเจ้า LDL มากขึ้นไปด้วยนั้นเอง นี่คือที่มาที่ว่าทำไมระดับของไตรกลีเซอไรด์จึงสำคัญ

แต่ช้าก่อน เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าร่างกายมีไตรกลีเซอไรด์จำนวนมาก จะมีการสร้าง VLDL ขึ้นซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับโมเลกุลของไขมัน LDL (ไขมันชนิดไม่ดี) และ HDL (ไขมันชนิดดี) ในกระแสเลือดของเรา ไตรกลีเซอไรด์จาก VLDL จะผสมรวมกับ LDL และ HDL ทำให้โมเลกุลของไขมันเกิดการบวมขึ้นเนื่องจากไตรกลีเซอไรด์ เจ้าโมเลกุลบวมๆ ของ LDL และ HDL จะเปลี่ยนสภาพอีกทีกลายเป็นโมเลกุล LDL และ HDL ขนาดเล็ก ซึ่งเจ้าโมเลกุลของ LDL และ HDL ขนาดเล็กลงนี้มีอันตรายคือไปกระตุ้นการอุดตันของเส้นเลือด

ดังนั้นจะเห็นว่าไตรกลีเซอไรด์เป็นต้วต้นเหตุที่ทำให้เกิดโมเลกุลของ LDL และ HDL ขนาดเล็ก โดยที่โมเลกุล LDL ขนาดเล็กมีศักยภาพในการทำให้เกิดโรคหัวใจได้มากเป็นสามเท่าเลยทีเดียว โดยที่ HDL ที่ปกติแล้วเป็นไขมันที่ดี แต่เมื่อมันกลายสภาพเป็นโมเลกุลขนาดเล็กแล้ว ควาามดีของมันก็หดหายไป ไม่ได้ช่วยกำจัดชำระล้างการอุดตันอย่างที่ HDL ทั่วๆ ไปช่วยทำให้กับหลอดเลือดของเรา

เท่าไรถึงว่าสูง

หลังจากได้รู้ว่ามันคืออะไร และความร้ายกาจที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว เพื่อนๆ อาจจะมีคำถามว่าแล้วเท่าไรล่ะถึงจะบอกได้ว่าร่างกายเรามีไตรกลีเซอไรด์มากเกินไป ในทางการแพทย์ได้มีการกำหนดมาตรฐานระดับของไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดไว้เป็นแนวทางดังนี้ค่ะ
<150 mg/dl      ถือว่าดี (optimal)
150-199           ถือว่าสูงคาบเส้น (borderline high)
200-499           ถือว่าสูง (high)
>500               ถือว่าสูงมาก (very high)

เป็นไงคะสำหรับเจ้าไตรกลีเซอไรด์ตัวร้าย ในบทความคราวหน้าเราจะมาลองดูว่า ทำไมร่างกายจึงมีไตรกลีเซอไรด์มากเกินไป และทำอย่างไรเราจึงจะควบคุมหรือลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ลงได้ โปรดติดตามต่อไปนะคะ