สาเหตุและวิธีลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเกินไป


สวัสดีค่ะเพื่อนๆ สาวๆ และท่านผู้อ่านทุกท่าน หลังจากที่ในบทความคราวที่แล้วเราได้คุยกันว่า ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คืออะไร มีผลอะไรกับร่างกายเรา และระดับความเข้มข้นเท่าใดจึงถือว่าสูงเกินระดับมาตรฐาน ไปแล้ว (อ่านเรื่อง ไตรกลีเซอไรด์ ที่นี่) ในบทความนี้เราจะคุยกันเรื่องของสาเหตุที่ทำให้ระดับของไตรกลีเซอไรด์สูงผิดปกติจากที่ควรจะเป็นและวิธีแก้ไขกันค่ะ

กระบวนการเกิดไตรกลีเซอไรด์

ก่อนจะรู้ว่าเราจะควบคุมไตรกลีเซอไรด์อย่างไร เราลองมาทำความเข้าใจกระบวนการเกิดของมันกันก่อนน่าจะดีกว่า เมื่อเราเข้าใจกระบวนการเกิดหรือการสร้างมันขึ้นมาแล้ว เราก็จะเข้าใจว่าจะควบคุมมันอย่างไรได้ดีขึ้น ซึ่งกระบวนการเกิดของไตรกลีเซอไรด์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าไปเลย ซึ่งจากอาหารที่ได้รับนั้น ร่างกายก็จะทำงานและอาจจะกลายเป็นกระบวนการก่อให้เกิดไตรกลีเซอไรด์ได้ดังนี้

- เรารับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูง (คือให้พลังงานสูง) เข้าไป
- เอนไซม์ไลเปส (Lipase) ย่อยไขมันออกเป็นกลีเซอรอล (Glycerol) และกรดไขมันต่างๆ (Fatty acids)
- ส่วนประกอบของกลีเซอรอลหนึ่งส่วนจับตัวรวมกับกรดไขมันอีกสามตัว กลายเป็นไตรกลีเซอไรด์
- ไตรกลีเซอไรด์ที่ไม่ได้ถูกใช้งาน จะถูกส่งไปเก็บไว้ที่เซลล์ไขมัน
- เมื่อร่างกายต้องการพลังงาน ก็จะดึงเอาไขมันที่สะสมไว้นี้มาใช้งาน


ไตรกลีเซอร์ไรด์ประกอบด้วยกลีเซอรอลและกรดไขมันสามตัวเกาะกันอยู่

กระบวนการข้างต้นนี้เป็นวิธีที่ร่างกายเตรียมพลังงานเพื่อสะสมไว้ให้อวัยวะต่างๆ มีไว้ใช้งานโดยที่เราไม่ต้องกินตลอดเวลา เรียกว่ามีการสำรองเก็บเอาไว้นั่นแหละค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม บางทีกระบวนการที่ดูจะดีมากๆ ตามธรรมชาติของร่างกายนี้ก็อาจจะไม่สมบูรณ์ก็ได้ เช่น

- ร่างกายแปลงและเก็บไตรกลีเซอไรด์ไว้มากกว่าที่จะสามารถนำไปใช้ได้ คือเก็บไว้มากเกินไปนั่นเอง
- เมื่อร่างกายผลิตไตรกลีเซอไรด์มากเกินไป ก็จะทำให้ระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
- เมื่อระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเกินไป ก็จะทำให้มีความเสี่ยงมากในการเป็นโรคหัวใจ

แล้วอะไรเป็นสาเหตุทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงล่ะ

การะที่ระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงนั้น ไม่ได้เกิดจากการรับประทานเท่านั้น แต่มีสาเหตุอื่นรวมอยู่ด้วย โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งสาเหตุของการมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงออกได้เป็นสองประเภทคือ แบบที่เราควบคุมไม่ได้ (คือเป็นที่สภาพของร่างกายของเราเอง) คือ

- มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์แบบ Hypothyroid คือร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอคือมีการเผาผลาญพลังงานน้อยเกินไป
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับไต
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ เนื่องจากตับมีหน้าที่สำคัญในการจัดการกับไขมันส่วนที่เหลือ ถ้าตับทำงานได้ไม่ดีแล้ว ก็จะเป็นผลทำให้ระดับไขมันผิดปกติไปได้ในที่สุดด้วย
- มีความผิดปกติทางพันธุกรรม คือมีคนบางกลุ่มที่จะมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงมากได้จากพันธุกรรมของตัวเอง
- เกิดเมื่อมีการตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์สตรีอาจจะมีระดับของไตรกลีเซอไรด์สูงมากได้โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้าย แต่เมื่อหลังคลอดบุตรแล้ว ระดับของไตรกลีเซอไรด์ก็จะลดลงเป็นปกติเอง
- เป็นโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุม จะทำให้ระดับของไตรกลีเซอไรด์สูงมากได้
- การรับประทานยาบางอย่าง ก็อาจจะทำให้ระดับของไตรกลีเซอไรด์สูงผิดปกติได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้ระดับของไตรกลีเซอไรด์สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากตัวเรา เกิดจากลักษณะนิสัยของตัวเราเอง ที่เราสามารถควบคุมได้แต่มักจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับมัน เช่น

- การอ้วนเกินไป คือรับประทานมากเกินไป ไตรกลีเซอไรด์ก็เหมือนกับเชื้อเพลิงที่ร่างกายมีไว้ใช้สร้างพลังงาน ถ้าเรารับประทานมากเกินไปร่างกายก็จะต้องเก็บเชื้อเพลิงนี้ไว้ที่อวัยวะบางส่วน ในบางรูปแบบ และเมื่อไม่มีที่จะเก็บอีกแล้ว ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดก็จะสูงขึ้น เมื่อคนเราอ้วนเกินไป ก็จะเกิดความไม่สมดุลขึ้นในร่างกาย ร่างกายจะมี HDL น้อยเกินไปและมี LDL กับไตรกลีเซอไรด์มากเกินไป (HDL: High Density Lipoprotein - ไขมันชนิดดี, LDL: Low Density Lipoprotein - ไขมันชนิดไม่ดี; อ่านบทความ ไขมัน ดีหรือไม่ดีกันแน่ เพิ่มเติม) สภาวะเช่นนี้ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

การลดไตรกลีเซอไรด์

เมื่อเรารู้ที่มาที่ไปของไตรกลีเซอไรด์แล้ว เราก็สามารถสรุปวิธีที่จะต้องระมัดระวังตัวเอง และวิธีที่จะลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ได้ดังต่อไปนี้

- ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต คือแป้ง และ น้ำตาล เพราะว่าถ้าร่างกายใช้งานไม่หมดร่างกายก็จะเปลี่ยนไปเป็นไตรกลีเซอไรด์ได้ด้วยฮอร์โมนอินซูลินที่ได้มาจากตับ
- ออกกำลังกาย กีฬาเป็นยาวิเศษเช่นเดิม การออกกำลังกายทำให้เราแข็งแรงและจะจัดการกับพลังงานส่วนที่เหลือได้ดี ทำให้ไม่มีตัวตั้งต้นเพื่อให้ร่างกายไปสร้างไตรกลีเซอไรด์ได้
- เลิกดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปจะรบกวนการทำงานของตับ โดยตับต้องมาทำหน้าที่กำจัดของเสียจากแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย (ร่างกายถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม) ทำให้ตับทำหน้าที่ที่เหลือคือกำจัดไขมันส่วนเกินออกไปได้ไม่เต็มที่ สุดท้ายไขมันส่วนที่เหลือก็จะถูกเปลี่ยนไปเป็นไตรกลีเซอไรด์นั่นเอง
- รับประทานไขมันโอเมก้า 3 ให้มาก ไขมันโอเมก้า 3 มีสามตัว ตัวแรกเรียกว่ากรดอัลฟาไลโนเลอิก (ALA) พบมากในน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันพืชอื่นบางชนิด ตัวที่สองเรียกว่า กรดไอโคสะเปนเตโนอิก (EPA) และตัวที่สามเรียกว่ากรดโดโคซาเฮกเซโนอิก (DHA) ทั้งสองตัวหลังนี้พบมากในน้ำมันปลาทุกชนิด โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำเย็น จึงแนะนำให้รับประทานปลาให้มาก หรือในกรณีที่ไม่ชอบรับประทานปลา แนะนำให้รับประทานน้ำมันปลาชนิดโอเมก้า 3 ซึ่งมีบรรจุเป็นแคปซูลขายจะช่วยละไตรกลีเซอไรด์ได้เช่นกัน

เป็นอย่างไรบ้างคะ สำหรับเรื่องของไตรกลีเซอไรด์ ถ้าสาวๆ หรือคุณผู้อ่านจัดการในส่วนที่เราสามารถจัดการได้ (เนื่องจากสาเหตุของการที่ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ยังมีที่มาจากส่วนที่เราไม่สามารถควบคุมได้อยู่ด้วย ส่วนนั้นก็จะต้องทำใจระมัดระวังกันไปพลางๆ ก่อน) คือ รับประทานแต่พอดี ได้สารอาหารครบทั้งห้าหมู่ ออกกำลังกายให้เป็นปกติ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสิ่งเสพติดมึนเมาทั้งหลาย เพียงเท่านี้ก็น่าจะทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพดี ไม่ทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์สูงจนเกินไป และมีคุณภาพชีวิตที่ดีสุขภาพแข็งแรงแล้วล่ะค่ะ