การทำความสะอาดหู


ต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว เกี่ยวกับเรื่องของหูๆ และขี้หูที่อยู่กับหูของเรานี่ล่ะค่ะ ในเมื่อมีขี้หูแล้ว เราก็คงจะต้องทำความสะอาดกันบ้าง ไม่ใช่ว่าไปไหนมาไหน พอมีใครเอียงหน้ามาใกล้ๆ จะกระซิบอะไรสักหน่อย ถ้าเรามีขี้หูอยู่ในหูจำนวนมาก ก็อาจจะไม่ได้ยิน ซ้ำร้ายกว่านั้นคนที่เอียงหน้ามากระซิบ อาจจะต้องหงายหลังออกไปก็ได้เมื่อเห็นของ (ที่ดูเหมือนจะเป็น) ส่วนเกินอยู่ในหูของเรา ว่าแต่ว่า เราจะต้องทำความสะอาดหูเมื่อไร และอย่างไร มาลองติดตามดูกันดีกว่านะคะ

เมื่อไรต้องทำความสะอาดหู

จะว่าไปแล้ว การทำความสะอาดหูของเรานี้ เป็นการทำความสะอาดเฉพาะส่วนของรูหูที่เราสามารถเข้าถึงได้ ไม่ต้องบุกลุยเข้าไปจนถึงสารพัดกระดูกรูป ค้อน ทั่ง โกลน อะไรนั่นหรอกนะคะ เพราะกว่าจะเข้าไปได้ เยื่อแก้วหูของเราคงต้องพังไปเสียก่อนแน่ๆ เลย การทำความสะอาดรูหูนี้ ก็คือการจัดการเอาบรรดาขี้หูออกไปนั่นเองค่ะ แต่ในทางอุดมคติแล้ว เราไม่ควรจะต้องทำความสะอาดรูหูด้วยซ้ำไป เพราะร่างกายเรามีวิธีการลำเลียงเอาขี้หูเก่าๆ ให้เคลื่อนที่ออกมายังช่องเปิดของหู และหลุดร่วงออกไปเองอยู่แล้ว แต่จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ที่ทำให้กลไกนี้ทำงานไม่สมบูรณ์ และเกิดเหตุอันจะต้องจัดการทำความสะอาด ก็ต้องจัดการกับมันล่ะค่ะ เหตุการณ์บ่งชี้ที่บอกว่าถึงเวลาที่จะต้องทำความสะอาดหูแล้วก็เช่น


  • เจ็บหู หรือรู้สึกแน่นในรูหู หรือมีความรู้สึกว่าหูตัน
  • ความสามารถในการได้ยินลดลง ซึ่งอาจจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ
  • มีเสียงอื้อ หรือได้ยินเสียงวิ้งๆ หรือเสียงรบกวนแปลกๆ
  • คัน มีกลิ่น หรือมีของเหลวไหลออกมาจากหู


วิธีทำความสะอาดหู

เหตุด้านบนทั้งหลาย ส่วนมากแล้วก็เกิดจากการอุดตันรูหูเนื่องมาจากการสะสมของขี้หูที่แห้งกรังนั่นเอง การทำความสะอาดก็โดยการล้างหู และใบหูด้านนอกแล้วเช็ดด้วยผ้า อย่าสอดใส่อะไรเข้าไปในรูหู จากนั้นก็จัดการใช้สารละลายที่หาได้แถวๆ ในบ้านนั่นเอง มาจัดการทำให้ขี้หูอ่อนตัวลง อาจจะเป็นน้ำมันมะกอก เบบี้ออยล์ กลีเซอรีน หรือน้ำยาทำความสะอาดหูโดยเฉพาะก็ได้ ซึ่งพวกนี้จะสามารถจัดการทำให้ขี้หูอ่อนตัวลงและสามารถหลุดออกมาได้เป็นส่วนมาก นอกจากนั้นอาจจะใช้ชุดสำเร็จในการทำความสะอาดหู โดยจะมีน้ำยาซึ่งประกอบด้วยน้ำ น้ำเกลือ ซึ่งเมื่อหยอดทิ้งไว้สัก 15-30 นาที ก็จะทำให้ขี้หูอ่อนตัวลงและถูกนำออกได้ง่าย

อีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่าใช้ไม้ที่พันปลายด้วยสำลีในการทำความสะอาดหูนะคะ เพราะมันมีแต่จะกดเอาบรรดาขี้หูให้ไหลกลับลึกลงไปในรูหูอีก (ซึ่งตรงกันข้ามกับการทำงานปกติของร่างกาย ที่จะคอยเลื่อนเอาขี้หูพร้อมกับสิ่งสกปรกที่มันจับเอาไว้ ออกมาทางรูเปิดของหู) ทำให้เกิดการอุดตันได้ค่ะ