ช่วงนี้เป็นช่วงลำบากของพวกเราหลายๆ คน ในปี พ.ศ. 2554 เรามีน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลผ่านจังหวัดต่างๆ ในบริเวณตำแหน่งที่เราไม่ได้ต้องการให้ผ่าน ในปริมาณที่เราไม่พึงประสงค์ คนไทยจำนวนมากต้องอยู่ในสภาวะที่ลำบากเนื่องจากน้ำปริมาณมหาศาลเหล่านี้ การที่มีน้ำจำนวนมากไหลบ่าท่วมขังในหลายๆ พื้นที่ เราที่อาจจะต้องเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากน้ำจำนวนมากมายเหล่านี้ ก็จะต้องมีความรู้รอบในการระมัดระวังกับโรคภัยต่างๆ ที่อาจจะมากับ "น้ำ" ค่ะเราค่อยๆ มาดูกันว่า โรคต่างๆ ที่จะต้องระวังและอาจจะมากับน้ำได้มีอะไรบ้าง
1. โรคน้ำกัดเท้า
เป็นโรคที่พบเจอได้ทันที ในเมื่อน้ำท่วม เราก็อาจจะต้องเดินลุยน้ำ หากว่าน้ำนั้นไม่สะอาดเพราะมีเชื้อราเดอร์มาโทไฟทซ์ (Dermatophytes) และเราไม่ได้จัดการล้างทำคววามสะอาด และทำเท้าให้แห้งหลังจากการย่ำน้ำที่ไม่สะอาด เราก็อาจจะตกเป็นเหยื่อของโรคน้ำกัดเท้านี้ได้ โดยอาการเริ่มจากคันตามซอกหรือง่ามนิ้ว ผิวลอกเป็นขุย เป็นผื่น หลังจากนั้นก็อาจจะพุพอง เท้าเปื่อย มีหนอง การรักษาก็จะต้องทายาวันละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องไปถึง 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันติดเชื้อซ้ำ ดังนั้นหลังจากย่ำน้ำสกปรก ควรล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ถ้าไม่จำเป็นอย่าแช่อยู่ในน้ำที่ท่วมนานๆ
2. โรคตาแดง
โรคตาแดงเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อที่มีชื่อว่า อะดิโนไวรัส (Adenovirus) และส่วนน้อยเกิดจากเชื้อ พิโคร์นาไวรัส (Picornavirus) เนื่องจากน้ำสกปรกหรือฝุ่นละอองเข้าตา ถูกแมลงตอมตา ขยี้ตา หรือติดโรคตาแดงนี้มาจากผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง ขี้ตาออกมาก เปลือกตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน จากนั้นจึงลามไปอีกข้างเพราะการใช้มือเช็ดขยี้ทำให้เกิดการติดเชื้อ วิธีป้องกันในเบื้องต้นก็คือ ไม่ขยี้ตา หากรู้สึกระคายเคืองหรือน้ำสกปรกเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที และไม่เข้าใกล้ผู้ป่วยโรคตาแดง
3. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูหรือภาษาอังกฤษเรียกว่าเลปโตสไปโรซิส เกิดจากเชื้อ Leptospira interogans เป็นเชื้อแบคทีเรียเชื้อนี้เคลื่อนที่โดยการหมุน เชื้อนี้อาศัยสัตว์จำพวกหนูเป็นแหล่งกบดาน โดยอาศัยอยู่ในไตของหนู เมื่อหนูปัสสาวะออกมา เชื้อโรคก็จะปะปนอยู่ตามดิน โคลน แหล่งน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลองได้นานเป็นเดือน เคยมีรายงานว่าอยู่ได้นาน 6 เดือนในที่น้ำท่วมขัง อาการบ่งบอก คือ ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่อง โคนขา และหลัง ทั้งยังมีไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว มีจุดเลือดออกตามผิว ไอมีเลือดปน ตัวและตาเหลือง ปัสสาวะน้อย เพลียซึมผู้ป่วยจะต้องพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ส่วนการป้องกันโรคฉี่หนู ไม่ควรเดินย่ำน้ำลุยโคลน ถ้ามีบาดแผลที่ผิวหนัง หากเลี่ยงไม่ได้ ต้องสวมรองเท้าบู้ท หรือล้างเท้าแล้วเช็ดให้แห้งสะอาดทันที
4. โรคทางเดินอาหารต่างๆ
โรคทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยเมื่อมีน้ำไม่สะอาดล้อมรอบตัวเราก็เช่น ท้องร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ โรคบิด หรือไทฟอยด์ อาการโดยรวมคือจะถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัวและปวดตามตัว เป็นไข้ เบื่ออาหาร ทางป้องกัน ก่อนกินข้าวหรือหลังจากขับถ่ายต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด กินอาหารและน้ำที่สะอาด ไม่บูดเสีย โรคท้องร่วงเกิดได้จากหลายสาเหตุ เชื้อโปรโตซัวเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งสามารถป้องกันและรักษาได้ เชื้อโปรโตซัวที่ทำให้เกิดโรค อุจจาระร่วง ได้แก่ เชื้ออะมีบา (Amoeba) เชื้อไกอาเดีย (Giardia) และเชื้อในกลุ่มคอกซิเดีย (Coccidia) นอกจากนี้ก็ยังมีเชื้ออีโคไล (E.Coli) ต่างๆ ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอุจจาระร่วง เชื้อชนิดนี้มีทั้งชนิดดีและไม่ดี เชื้ออีโคไลบางชนิดอยู่ในลำไส้คนเราอยู่แล้วและไม่ก่อโรค แต่ก็มีเชื้ออีโคไลบางชนิดที่ก่อโรคเช่นเอนเทอโรท็อกซิเจนิก อีโคไล (Enterotoxigenic E.Coli) ทำให้เกิดอาการท้องร่วงในทารก หรือเอนเทอโรเพโทเจนิก อีโคไล (Enteropathogenic E.Coli) เชื้อพวกนี้จะสร้างสารพิษแก่ร่างกายคน
เป็นอย่างไรบ้างคะ จะเห็นว่าโรคที่มากับน้ำที่ไม่สะอาดนั้นมีได้เยอะมาก แต่หลักการป้องกันนั้นก็ไม่ได้ยากนัก ก็คือจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำที่ต้องสงสัยว่าจะไม่สะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่าให้เข้าปาก หรือเข้าสู่ร่างกายทางช่องทางอื่นๆ หากจำต้องสัมผัส ก็จะต้องล้างทำความสะอาด เท้า มือ ทันที รวมทั้งการที่จะนำน้ำมาดื่ม จะต้องกรองและต้มให้สุกเสียก่อน (ทำทั้งสองอย่าง) และเมื่อเกิดอาการผิดปกติกับร่างกาย ก็จะต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที แค่นี้ก็จะทำให้เราปลอดภัยจากโรคที่มากับน้ำแล้วล่ะค่ะ