ระดับพื้นดินกรุงเทพฯ


จากข่าวที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ (ก.ย. - ต.ค. 54) เกี่ยวกับน้ำที่ท่วมตามจุดต่างๆ ของประเทศไทยเรา ก็มีคำถามว่าทำไมน้ำจึงท่วม หรือประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครนั้น มีระดับต่ำกว่าน้ำทะเล และกำลังจะจมหรือเปล่า วันนี้ womanandkid ขอรวมเอาข้อมูลมาคุยกันนะคะ
สิ่งแรกที่เราควรทราบก่อนก็คือ กรุงเทพฯ นั้นไม่ได้มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางหรอก แต่พื้นที่กรุงเทพฯ สูงโดยเฉลี่ย 1-1.5 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางค่ะ แต่ที่มีปัญหาคือช่วงที่น้ำทะเลหนุนนั้น อาจจะสูงถึง 1.3 เมตร และในปีที่มีปัญหามากกว่านั้นก็อาจจะถึงสองเมตรกว่าทีเดียว นี่ยังไม่รวมน้ำเหนือที่อาจจะมีปริมาณมากในบางปีจนเขื่อนต่างๆ ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ ต้องปล่อยไหลผ่านพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ เพื่อลงสู่ทะเลต่อไป ซึ่งน้ำที่ถูกปล่อยมานี้ อาจจะมีปริมาณมากจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงถึง 2 เมตรเลยทีเดียว

ในประเทศไทยเรา มีการวัดระดับน้ำทะเลที่เกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้เวลาในการวัด 5 ปี จากนั้นนำมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อใช้เป็นค่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้มีค่า 0.000 เมตร ทำการถ่ายโยงมายังหมุด BM-A (ซึ่งถือว่าเป็นหมุดหลักฐานหมุดแรกของประเทศไทย) ซึ่งมีค่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1.4477 เมตร

จากภาพประกอบบทความด้านบน (คลิกที่ภาพเพื่อดูรูปใหญ่) ก็จะเห็นได้ว่า ระดับของพื้นที่ในบริเวณต่างๆ ในกรุงเทพฯ นั้นเป็นอย่างไร จะเห็นว่า ถ. สุขุมวิท นั้นมีความสูงอยู่ที่ระดับน้ำทะเลปานกลางพอดี ในขณะที่ ถ.อรุณอัมรินทร์ และ ถ.มหาราช มีความสูงมากหน่อยคือ 1.60 และ 1.50 เมตร ตามลำดับ เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงสุด ถนนทั้งสองนี้ก็อาจจะต่ำกว่าระดับน้ำทะเลราวๆ 40 - 50 เซนติเมตร แต่เราก็ยังมีคันกั้นน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้สามารถบรรเทาการไหลล้นออกมาได้ค่ะ

อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดกับกรุงเทพมหานครเมื่อนานมาแล้วคือ การใช้น้ำบาดาลปริมาณมหาศาล ทำให้เกิดการทรุดตัวอย่างมากของระดับพื้นดิน ในราวปี พ.ศ. 2520 ระดับพื้นดินบางพื้นที่ทรุดลงกว่าปีละ 10-15 เซนติเมตร เมื่อทางการได้ประกาศห้ามการขุดเจาะและใช้น้ำบาดาลลง การทรุดตัวก็ดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน (พ.ศ. 2554) ก็ยังมีการทรุดตัวในบางพื้นที่ถึงกว่า 3-5 เซนติเมตรต่อปี

เมื่อทราบที่มาและความเป็นมาเป็นไปแล้ว พวกเราก็จะต้องหาวิธีรับมือกับน้ำ ที่อาจจะมาจากน้ำทะเลหนุนสูง หรือจากการปล่อยน้ำที่มาจากเขื่อนต่างๆ ซึ่งต้นเหตุจริงๆ ก็คงไม่พ้นการทำลายธรรมชาติ ป่าไม้ ทำให้เมื่อฝนตกลงมาเหนือเขื่อนมากๆ น้ำฝนไม่มีต้นไม้และป่าในการซับน้ำเอาไว้ ทำให้ไหลบ่าลงมารวมที่เขื่อน เมื่อเขื่อนต่างๆ ไม่สามารถรับน้ำอีกต่อไปได้ ก็จำเป็นต้องปล่อยน้ำออกมา กลายเป็นน้ำไหลท่วมในบางพื้นที่อย่างที่เห็น เราคงต้องช่วยกันรักษาธรรมชาติ และร่วมกันรณรงค์รักษาและปลูกป่าเพิ่มเติมเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมกันมากๆ นะคะ