เส้นใยอาหารในทางเดินอาหาร


หลังจากที่เราได้ทราบกันมาในบทความที่ผ่านมาว่า เส้นใยอาหารนั้นมีกี่ประเภท (อ่านเรื่อง เส้นใยอาหารคืออะไร ที่นี่) กันมาแล้วในบทความที่ผ่านมา ก่อนที่เราจะไปดูว่า เส้นใยอาหารเหล่านี้มีประโยชน์อะไรกับร่างกายของเรา เราก็ควรจะมีความรู้ก่อนว่า เมื่อเรารับประทานเส้นใยอาหารเหล่านี้เข้าไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในระบบทางเดินอาหารของเรา ซึ่งหากเราทราบและเข้าใจกลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นว่า เจ้าเส้นใยอาหารหรือที่เรียกว่าไฟเบอร์ (Fiber) นั้น มันมีประโยชน์กับเราได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่เชื่อที่เขาว่ากันมา ลองติดตามกันดูนะคะ

เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีเส้นใยในปริมาณสูงเข้าไป ซึ่งอาจจะเป็นเส้นใยทั้งชนิดที่ละลายในน้ำได้และที่ไม่สามารถละลายในน้ำได้ ในความเป็นจริงแล้ว เส้นใยอาหารส่วนมากก็เหมือนๆ กับคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ คือสร้างมาจากโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส เพียงแต่ว่าเจ้าโมเลกุลเหล่านี้จะไม่แตกออกจากกันก่อนที่จะวิ่งไปถึงลำไส้ใหญ่ หรือบางที ก็ยังคงไม่แยกออกจากกันอยู่ดี อย่างไรก็ตาม เจ้าเส้นใยอาหารเหล่านี้ยังคงมีผลต่อระบบการย่อยอาหารและต่อร่างกายของเราตลอดทางที่มันวิ่งผ่านไป เรามาลองทำตัวเป็นเส้นใยอาหาร วิ่งผ่านทางเดินอาหารของตัวเราเองดูกัน (บรื๋อว์ว์) ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตั้งแต่ผ่านการเคี้ยวของเราในปาก จากนั้นก็เข้าสู่กระเพาะอาหาร วิ่งต่อไปถึงลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ก่อนที่จะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายของเราไป มาดูกันว่าในระหว่างทางที่มันเดินทางผจญภัยนั้น มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมายแค่ไหนค่ะ

ในกระเพาะอาหาร

เส้นใยอาหารจะจับตัวกันเป็นก้อนๆ หนาๆ ในกระเพาะอาหารของเรา ซึ่งการมีลักษณะแบบนั้นจะทำให้เรารู้สึกอิ่ม เส้นใยอาหารแบบไม่ละลายในน้ำจะวิ่งออกจากกระเพาะอาหารได้เร็วยกเว้นว่าโดนดึงเอาไว้ด้วยไขมัน โปรตีน หรือแม้แต่เส้นใยอาหารแบบที่ละลายในน้ำได้ นึกภาพดูนะคะ ว่าเจ้าเส้นใยอาหารแบบที่ละลายในน้ำได้นี้ จะมีลักษณะเป็นเจล ซึ่งจะดึงๆ ดูดๆ เอาอะไรๆ ให้ติดกับตัวมันเอาไว้นั่นล่ะค่ะ เส้นใยอาหารแบบที่ละลายในน้ำได้โดยเฉพาะชนิดที่หนืดๆ หน่อยจะทำให้อาหารเคลื่อนที่ออกจากกระเพาะอาหารช้าหน่อย ซึ่งจะยิ่งช้าเมื่อเรารับประทานไขมันและดื่มน้ำจำนวนมากตามลงไป ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่เส้นใยอาหารแบบที่ละลายในน้ำได้สามารถชะลอการเกิดและดูดซึมน้ำตาลในร่างกายของเราได้ เพราะมันทำให้อาหารเคลื่อนตัวช้าลงผ่านไปยังลำไส้เล็ก ซึ่งจะมีการดูดซึมไปสู่กระแสเลือดต่อไป

ในลำไส้เล็ก

สิ่งที่เกิดขึ้นในลำไส้เล็กก็จะคล้ายๆ กับในกระเพาะอาหาร โดยเส้นใยอาหารแบบที่ละลายในน้ำไม่ได้จะพยายามทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านไปเร็วๆ ในขณะที่เส้นใยอาหารแบบที่ละลายในน้ำได้จะพยายามทำให้ความเร็วนี้ช้าลง เพราะลักษณะทางกายภาพของมันต่างกัน จึงมีผลตรงกันข้ามกันนั่นเอง

ในลำไส้ใหญ่

ลำไส้ใหญ่เป็นบริเวณที่มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมายกว่าในกระเพาะอาหารและในลำไส้เล็ก เรียกว่าเป็นโลกอีกโลกหนึ่งเลยก็ว่าได้ นอกจากอาหาร ลำไส้ใหญ่เองแล้ว ก็ยังมีแบคทีเรียที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นมิตร เป็นคุณต่อร่างกายของคนเราอาศัยอยู่ในนั้น การมีแบคทีเรียเหล่านี้อยู่ด้วย ทำให้สิ่งต่างเกิดขึ้นเยอะมาก

โดยทั่วไปแล้วเราสามารถคิดง่ายๆ ได้ว่า ลำไส้ใหญ่เป็นที่ๆ ร่างกาย "สะเด็ดน้ำ" คือจัดการเอาน้ำออกจากสิ่งที่เหลือจากการย่อยอาหารทั้งหลาย เหลือแต่สิ่งที่ร่างกายจะขับเป็นของเสียทิ้งต่อไป ซึ่งภายในลำไส้ใหญ่นั้นมีแบคทีเรียจำนวนมากมายมหาศาลที่เป็นประโยชน์กับเราอาศัยอยู่ จะว่าไปแล้วเราคงไม่สามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขได้หากไม่มีแบคทีเรียพวกนี้ เพราะในลำไส้ใหญ่จะมีปฏิกิริยาที่สร้างสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเรา ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็เช่น

•มีวิตามินหลายชนิดถูกสร้างขึ้น (โดยเฉพาะวิตามินเค และวิตามินบี บางชนิด)
•แร่ธาตุจำนวนมากถูกดูดซึมเข้าในกระแสเลือด
•แบคทีเรียมิตรเหล่านี้จะกดดัน กระชับพื้นที่ ไล่เอาเชื้อโรคที่เป็นอันตรายออกไป
•แบคทีเรียมิตรเหล่านี้ช่วยลดระดับของสารพิษลง (เช่นแอมโมเนีย)
•มีการสร้างไขมันชนิดพิเศษที่เรียกว่ากรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acids, SCFAs) ส่วนมากจะถูกดูดซึมเข้าในกระแสเลือด ในขณะที่บางส่วนจะใช้เป็นอาหารของลำไส้ใหญ่
•สุขภาพของลำไส้ใหญ่ของเราเปลี่ยนไปมารวดเร็วมาก แต่ส่วนมากก็ขึ้นกับความแข็งแรงของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งก็ขึ้นกับว่าเราให้อาหารมันดีแค่ไหนนั่นเอง

แล้วเส้นใยอาหารชนิดไหนที่เป็นแหล่งอาหารของลำไส้ใหญ่ล่ะ

เส้นใยอาหารที่ยอมให้ถูกย่อยสลายได้ง่ายจะเป็นเส้นใยอาหารแบบที่ละลายในน้ำได้ ซึ่งพบได้ในอาหารประเภทถั่ว ลูกพลัม แอปเปิ้ล ข้าวโอ๊ตค่ะ โอลิโกแซ็กคาไรด์ (Oligosaccharides) และแป้งที่ย่อยเป็นน้ำตาลได้ยาก (Resistant Starch) ก็เป็นแหล่งอาหารที่ดีสำหรับแบคทีเรียเหล่านี้ อาหารที่ต่างกันที่แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้รับ จะได้กรดไขมันสายสั้น (SCFAs) ที่ต่างชนิดกันออกมา นั่นคือเราจำเป็นต้องรับประทานอาหารต่างๆ เข้าไป เพื่อจะได้กรดไขมันสายสั้นครบถ้วน

เส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายในน้ำ (พบในผัก ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่างๆ) จะไม่สามารถถูกย่อยสลายได้มากนัก คือไม่สามารถกลายเป็นอาหารของแบคทีเรียได้ง่าย แต่ก็ยังมีความสำคัญในลำไส้ใหญ่ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการรวมตัวเป็นก้อนที่ดีของอุจจาระแล้ว ก็ยังช่วยทำให้ของเสียเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ใหญ่ได้เร็วขึ้น นั่นคือทำให้การย่อยสลาย (และเป็นการหมักหมมไปด้วยในเวลาเดียวกัน) ของสิ่งอื่นๆ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงต้นจนถึงปลายของลำไส้ใหญ่ ถ้าไม่มีเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายในน้ำนี้แล้ว การย่อยสลายจะเกิดขึ้นอยู่ในช่วงต้นของลำไส้ใหญ่เท่านั้น ทำให้เซลล์ของลำไส้ใหญ่เพียงบริเวณเดียวได้รับสารอาหารที่สำคัญของมัน

เป็นอย่างไรบ้างคะกับสิ่งที่ womanandkiid ค้นคว้ามาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันเป็นพิเศษ ซึ่งตอนนี้เราก็ทราบแล้วว่า เมื่อเรารับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารชนิดต่างๆ เข้าไป จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในบทความคราวหน้า ก็จะมาสรุปกันดูว่า การที่เรารับประทานผักผลไม้ หรือธัญพืชต่างๆ ที่มีประโยชน์ อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารเข้าไป จะช่วยเราอย่างไรบ้าง โปรดติดตามอ่านนะคะ