ฟังเพลงด้วยหูฟังอย่างไรให้ปลอดภัย


อันชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์ ฤๅอุบายเล่ห์ร้ายขมังนัก มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี อีกดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรกเช่นกล่าวมานี่ ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ (จาก พระราชนิพนธ์แปล ในรัชกาลที่ ๖) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของดนตรี ที่จรรโลงจิตใจและโลกของเรานี้ให้รื่นรมย์และน่าอยู่นะคะ

ทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆ เจริญขึ้นมาก จากการฟังดนตรีที่จะต้องฟังกับวงดนตรีจริงๆ ในสมัยโบราณ เราก็เริ่มมีการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียง ลงเทป ลงซีดี ลงสื่อที่ใช้เก็บเพลงและดนตรีต่างๆ จากเครื่องเสียงชิ้นใหญ่โตที่จะต้องเก็บไว้ที่บ้านหรือติดตั้งไว้ในรถ เจริญก้าวหน้ามาจนเป็นเครื่องเล่นชนิดพกพาที่เล่นด้วยเทป (ซาวด์อเบ้าท์ - โซนี่) กระทั่งเล่นซีดีหรือดิจิตอลเทปแบบพกพาได้ จวบจนสมัยนี้ เพลงจำนวนนับพันเพลงสามารถถูกใส่เข้าไว้ในเครื่องเล่นชนิดพกพาแบบที่ไม่ต้องมีชิ้นส่วนเคลื่อนไหว (เก็บในสื่อหน่วยความจำแบบสารกึ่งตัวนำ) สุดท้าย โทรศัพท์มือถือรุ่นฉลาดใหม่ๆ ล้วนสามารถเล่นเพลงได้ทั้งสิ้น

แต่ไม่ว่าวิธีการเก็บเพลง หรือขนาดของเครื่องเล่นจะเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงยากและช้ากว่าและต้องทำงานกับอวัยวะรับเสียงคือหูของเรา (ที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว) ก็มีลักษณะเป็นแบบเดิมคือลำโพงเสียง หรืออุปกรณ์แปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นเสียงต่างๆ และสำหรับเครื่องเล่นแบบพกพา อุปกรณ์ลำโพงนี้ก็ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กจนสามารถติดไว้ใกล้กับหูหรือแม้แต่ในช่องหูของเราได้ในลักษณะต่างๆ

ความเสี่ยงที่แฝงตัวมา

ปัจจุบันนี้ การฟังเสียงเพลงจากเครื่องเล่นชนิดพกพาทั้งหลายมักจะทำกันด้วยหูฟังเกือบทั้งสิ้น ซึ่งหลายครั้งเราจะเห็นว่าเพื่อน คนรู้จัก คนที่เดินผ่านไปมา ใช้ลำโพงเล็กๆ เสียบเข้าไปในหู และเปิดเพลงเร่งระดับเสียงจนดังมากจนกระทั่งเราสามารถได้ยินเสียงห่างออกมาในระยะหลายฟุต เรียกว่าเปิดเผื่อแผ่คนใกล้ๆ ด้วยว่าอย่างนั้นเถิด ระดับเสียงที่ดังมากเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายกับระบบรับฟังเสียงหรืออวัยวะภายในหูของเราได้เมื่อฟังเป็นเวลานาน ความเสียหายเหล่านี้อาจจะไม่แสดงอาการทันทีเมื่ออายุยังน้อย แต่เมื่ออายุมากขึ้นอาจจะเกิดอาการหูดับไปได้เลยทีเดียว

เราฟังอะไรได้ดังแค่ไหน

หูของคนเรานั้นมีขีดจำกัดของมัน ถ้าเราได้รับเสียงที่ดังมาก เรียกว่ามากจริงๆ อาจจะถึงกับทำให้หูเสียหายอย่างถาวรได้เลยนะคะ โดยปกติแล้วเราสามารถฟังเสียงได้ตั้งแต่ระดับความดัง 0dBspl (spl คือ sound pressure level ซึ่งเราเทียบระดับความดังต่ำสุดที่มนุษย์สามารถได้ยินเป็น 0 dBspl) ไปจนกระทั่ง 120 dB ซึ่งเป็นเสียงระดับไซเรน ที่ระยะของไซเรน แต่ที่ระยะที่ห่างออกมา เสียงก็จะมีระดับความดังลดต่ำลง โดยปกติแล้วเราสามารถฟังเสียงได้ที่ความดังระดับ 85 dB (ประมาณเสียงในร้านอาหารที่พลุกพล่าน) ได้อย่างปลอดภัยเป็นเวลาวันละ 8 ชั่วโมง และที่ความดังที่เพิ่มขึ้นสองเท่า (ระดับความดังเพิ่มขึ้น 3 dB คือดังขึ้นสองเท่า) นั้น เวลาที่เราจะฟังหรืออยู่ในสภาวะแวดล้อมเช่นนั้นจะลดลงสองเท่าตัวด้วยเช่นกัน เช่นเราจะอยู่ที่ระดับความดัง 88 dB (ริมถนนที่จอแจมาก) ได้อย่างปลอดภัยเพียงวันละ 4 ชั่วโมง หรือจะอยู่ที่ระดับความดัง 91 dB (ความดังระดับด้านหน้าวงดุริยางค์) ได้อย่างปลอดภัยเพียงวันละ 2 ชั่วโมง เป็นต้น และเพราะว่าระดับความดังของเสียงแปรผันเป็นกำลังสองของระยะระหว่างแหล่งกำเนิดเสียงกับหูของเรา การเปิดเสียงที่ไม่ดังมากนักจากหูฟังที่อยู่ชิดติดกับหูของเรา จะสร้างระดับความดังของเสียงได้อย่างมากมายเชียวค่ะ

ฟังอย่างไรให้ปลอดภัย

ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่เรามองข้ามกันไป และเป็นสิ่งที่เป็นพฤติกรรมของคนเราในการฟังเพลง ไม่ว่าจะจากเครื่องเสียงที่ใช้ลำโพงธรรมดาจากชุดสเตอริโอในบ้านหรือเครื่องเสียงในรถยนต์ หรือจะจากหูฟังชนิดต่างๆ จากเครื่องเล่นประเภทพกพา โดยได้รับการทดลองและศึกษาแล้ว (ลองสังเกตดูตัวเองก็ได้ค่ะ) ก็คือ เรามักจะเร่งระดับเสียงให้ดังมากขึ้นจากเครื่องเสียงนั้นเพื่อกลบเสียงรบกวนภายนอกที่อยู่ข้างๆ เรา นั่นคือวิธีฟังเพลงที่ปลอดภัยที่สุดก็คือนั่งฟังในบริเวณที่เงียบมากๆ เช่น ห้องนอนตอนกลางคืนเงียบสงัด หรือในที่ทำงานที่เงียบมากนั่นเอง ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองอย่างนั้นแทบจะทำหรือเป็นไปไม่ได้ เพราะในห้องนอนเราก็คงอยากนอนหลับ หรือในที่ทำงานเราก็คือจะต้องทำงาน หากมัวแต่นั่งฟังเพลงเจ้านายก็คงจะให้เรากลับไปฟังที่บ้าน (โดยไม่ได้รับค่าจ้างเงินเดือนอีก) แน่นอน แล้วจะทำอย่างไรดี

อุปกรณ์ที่ช่วยให้ปลอดภัยขึ้น

จากพฤติกรรมในการฟังเพลงของเรา เราก็ต้องพยายามทำกลับด้านกัน คือทำให้เราไม่ได้รับเสียงรบกวนจากภายนอกในขณะที่เราฟังเพลงอยู่ (แม้ว่าในขณะนั้นเราจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการรบกวนก็ตาม) หนึ่งในความเป็นไปได้คือการใช้หูฟังชนิดที่สามารถป้องกันเสียงรบกวนออกไปได้ ซึ่งจะมีอยู่สองประเภทคือ หูฟังชนิดครอบทั้งหู (over the ear) ที่สามารถกันเสียงภายนอกรั่วไหลเข้ามาแต่จะมีขนาดใหญ่เกะกะสักหน่อย และอีกแบบหนึ่งคือ หูฟังชนิดสอดในรูหูที่สามารถกันเสียงรบกวนได้ (in-ear noise isolating earphone) และในเมื่อการใช้หูฟังสองชนิดนี้สามารถป้องกันเสียงจากภายนอกเข้ามารบกวนได้ เราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะเปิดเสียงเพลงจากเครื่องเล่นต่างๆ ด้วยระดับความดังที่ต่ำลง

หูของเราเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้นะคะ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของอุปกรณ์ประจำตัวชิ้นนี้ให้ทำงานอยู่กับเราไปได้นานๆ เราก็ควรถนอมเอาไว้ให้ดีที่สุดนะคะ