เบาหวานในผู้สูงอายุ


ทีแรกว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้แล้วล่ะค่ะ แต่เห็นว่ามีประโยชน์กับทั้งเราทุกคน และกับเราที่มีญาติหรือญาติผู้ใหญ่ที่อาจจะมีอายุสูงขึ้น การมีความรู้เรื่องนี้ไว้บ้างก็น่าจะมีประโยชน์

โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และมักจะมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ต้อกระจก เบาหวานที่จอประสาทตา ไตเสื่อม เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม และ/หรือ แผลเรื้อรังที่เท้า เนื่องจากในตัวผู้ใหญ่เองมักจะมีปัญหาการเสื่อมของอวัยวะบางส่วนเช่นการเสื่อมลงของตับอ่อน (ที่ทำหน้าที่ผลิตอินซูลิน) จึงทำให้มีการผลิตอินซูลินลดลง รวมทั้งผู้ป่วยเบาหวานอาจจะมีอาการมาแล้วเป็นเวลานานอีกด้วย

ผู้สูงอายุมักจะมีกิจกรรมต่างๆ น้อยลง ทำให้การดึงน้ำตาลจากเลือดไปใช้น้อยลง การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมักจะทำได้ยากขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ง่าย ผู้สูงอายุบางคนมีการใช้ยาเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลต่ำได้ง่าย เพราะน้ำตาลที่สะสมในตับมีระดับลดลง รวมถึงระบบฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดตอบสนองได้ไม่เต็มที่

จากการวิจัยพบว่า การที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปอาจจะมีผลเกี่ยวเนื่องกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานด้วยโรคหัวใจมากขึ้นได้ และกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากโดยทั่วไปจะไม่มีอาการเบื้องต้นที่เกิดนำมาก่อน ที่จะบ่งชี้ได้ว่าระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มต่ำเกินไปเช่น ใจสั่น มือสั่น หิว หรือ ปวดศีรษะ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าผิดปกติ และไม่ได้หาอาหารรับประทาน จนกระทั่งระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมากเกินไปจนผู้ป่วยซึมหมดสติ หรือร้ายแรงกว่านั้นคือเกิดอาการชักได้

การควบคุมภาวะผิดปกตินี้ทำได้โดยการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมคือไม่สูงหรือต่ำเกินไป และรับประทานอาหารให้ครบหมู่ในปริมาณที่เหมาะสมครบ 3 มื้อ รวมทั้งเลือกใช้ยาเบาหวานที่่ไม่ทำให้เกิดผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปค่ะ