เลือกครีมกันแดดอย่างไรดี


เมืองไทยเราเป็นประเทศที่มีอากาศร้อน แถมในบางหน้าบางฤดูกาล ต้องเรียกว่าร้อนมาก และร้อนสุดๆ ด้วยน่าจะดีกว่านะคะ อย่างไรก็ตามการที่บ้านเรามีแสงแดดที่ดี ก็มีคนต่างชาติพากันอิจฉา เพราะเมืองไทยไม่มีสภาพอากาศที่เลวร้าย หิมะตก จนเดินทางลำบาก หรือเพราะบ้านเมืองของเขามีแต่ความหนาวเย็น เพาะปลูกพืชไร่ก็ไม่ได้ผล ปีหนึ่งๆ เพาะปลูกพืชได้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น บางประเทศถึงกับหนาวจนขาดอาหารเนื่องจากไม่สามารถทำไร่พืชสวนอะไรได้ นอกจากนี้การที่มีแสงแดดทั้งปี ยังทำให้บ้านเราเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเที่ยวกันได้ทั้งปี นำเงินตราต่างประเทศเข้า ดังนั้นแม้เมืองไทยจะอากาศร้อนจนคนไทยอย่างสาวๆ เราต้องเดือดร้อนเป็นห่วงผิวตัวเอง แต่เราก็ต้องภูมิใจในภูมิศาสตร์ที่ตั้ง และความเป็นไทยของเรา ส่วนเรื่องแสงแดดที่แผดเผานั้น เราสามารถป้องกันแก้ไขได้ ด้วยครีมกันแดดดีๆ ที่สามารถเลือกซื้อหากันมาใช้ได้ ซึ่งในบทความตอนนี้ เราจะมาดูกันว่าเราจะเลือกครีมกันแดดกันอย่างไรดีค่ะ

ถ้าสาวๆ ลองไปเดินเลือกซื้อหาครีมกันแดดตามห้างแล้วล่ะก็ อาจจะงงๆ มึนๆ กับสารพัดยี่ห้อที่มีจำหน่ายกันอยู่ นอกจากนั้นยังต้องสับสนกับอีกหลายคุณสมบัติที่มีของครีมแต่ละอย่างนั้นอีกด้วย แถมพกด้วยคำศัพท์แปลกๆ เช่น SPF (เอส พี เอฟ), UVA (ยูวีเอ), UVB (ยูวีบี) และเมื่อเอาศัพท์พวกนี้มาผสมกัน เรียบร้อยร้อนรุ่มยิ่งกว่าโดนแดดเผาเสียอีกก็มี แต่ไม่ต้องกลัวค่ะ เราจะค่อยๆ มีดูกันว่าแต่ละอย่างที่พูดถึงนั้นคืออะไร

เลือกระดับการป้องกันที่ถูกต้อง

ระดับการป้องกันนี้หมายถึงการกันแสงแดดที่จะพยายามส่องทะลุบรรยากาศของโลกมายังผิวของสาวๆ แถมยังทะลุลงไปภายใต้ผิวหนังทำให้เกิดปัญหาด้านผิวพรรณอีกเช่น รอยดำ รอยไหม้ รอยเหี่ยวย่น หรือแม้กระทั่งหากโดนแสงแดดที่รุนแรงเข้าไปนานๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วยค่ะ ระดับการป้องกันของครีมกันแดดจะบอกกันด้วย เอส พี เอฟ (SPF) ซึ่งย่อมาจากคำว่า Sun Protection Factor ซึ่งแปลได้ความว่า "ระดับการป้องกันแสงอาทิตย์" นั่นเองค่ะ ยิ่งตัวเลข SPF นี้มากก็หมายความว่าครีมกันแดดนั้นสามารถป้องกันรังสียูวีบีได้มากขึ้น ตัวเลข SPF จะบอกให้สาวๆ ทราบว่าเมื่อทาครีมกันแดดนั้นแล้ว สาวๆ สามารถทนอยู่ภายใต้แสงแดดได้นานกว่าคนที่ไม่ได้ทาเท่าไรก่อนที่จะเกิดการไหม้ของผิว ตัวอย่างเช่น ถ้าคนธรรมดาสามารถทนอยู่ภายใต้แสงแดดได้ 10 นาทีก่อนที่ผิวจะไหม้แล้ว สาวๆ ที่ทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ก็จะทนอยู่ภายใต้แสงแดดระดับนั้นได้นานเป็น 30 เท่าโดยที่ผิวยังไม่ไหม้นั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วครีมกันแดดจะมีค่า SPF ตั้งแต่ 2 ถึง 60 สาวๆ อาจจะคิดว่าก็ทาชนิด SPF สูงสุดๆ เอาไว้น่าจะป้องกันได้ดีกว่ามากๆ ซึ่งก็อาจจะไม่ค่อยจริงนัก เนื่องจากครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 สามารถป้องกันแสงแดดได้ดีกว่าชนิด SPF 30 เพียง 1-2% เท่านั้นค่ะ ส่วนการจะใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF เท่าไรนั้นก็ขึ้นกับชนิดของผิวของสาวๆ เองด้วยนะคะ ผู้ที่ผิวขาวก็จะต้องการการปกป้องที่มากกว่าสาวๆ ที่ผิวคล้ำกว่าค่ะ (แหม เพิ่งจะเห็นข้อดีของผิวที่คล้ำกว่าก็ตรงนี้เอง) ลองดูแนวทางด้านล่างนี้นะคะ

ผิวขาว: ใช้ SPF 50
ผิวค่อนข้างขาว: SPF 30
ผิวคล้ำ: SPF 15-20
ผิวคล้ำมาก: SPF 15
ผิวดำ (ดำแบบคนอาฟริกัน): SPF 8

ความสามารถในการป้องกัน UVA และ UVB

UVA (ยูวีเอ) และ UVB (ยูวีบี) สองตัวนี้คือรังสีเหนือม่วงหรืออุลตร้าไวโอเลท ที่หากไม่ป้องกันแล้วจะทำให้ผิวเสียหายได้ โดย UVA จะทำให้เกิดการเหี่ยวย่นแก่ก่อนวัยและผิวคล้ำลง และหากได้รับเป็นเวลานานๆ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ ส่วน UVB จะทำให้เกิดการไหม้ของผิวและก็เช่นเดียวกันกับ UVA คือหากได้รับเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน ครีมกันแดดบางชนิดจะกันได้เฉพาะรังสียูวีตัวใดตัวหนึ่ง ในขณะที่บางชนิดก็สามารถป้องกันได้ทั้งสองตัว หากเป็นไปได้ สาวๆ ก็ควรเลือกครีมกันแดดที่สามารถกันรังสียูวีตัวร้ายกับผิวเราได้ทั้งสองชนิดนะคะ

ความสามารถในการกันน้ำ

นอกจากแสงแดดที่แผดเผาแล้ว เมืองไทยยังมีอากาศที่ร้อนมากอีกด้วย ครีมกันแดดที่ไม่สามารถป้องกันน้ำได้เลย เมื่อถูกเหงื่อของสาวๆ ก็จะลอก ละลาย สลายออกไปจากผิวเราแล้วล่ะค่ะ การเลือกครีมกันแดดที่สามารถกันน้ำหรือกันเหงื่อ (อาจจะเขียนว่า waterproof, sweatproof, หรือ water resistant) ได้จะเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างน้อยก็เมื่อเวลาที่เราเหงื่อออก ครีมกันแดดจะได้ไม่ลอกหลุดหนีหายไปเสียก่อนค่ะ แต่ถ้าสาวๆ ต้องการจะทาครีมก่อนลงว่ายน้ำแล้วล่ะก็ ต้องเลือกครีมกันแดดประเภททนน้ำเลยล่ะค่ะ (เรียกว่า waterproof) อย่างไรก็ตาม หลังจากที่สาวๆ เล่นน้ำเสร็จแล้ว ก็ควรจะทาครีมกันแดดเสริมอีกครั้งหนึ่งนะคะ แหม ก็ความที่เป็นครีมประเภททนน้ำ อึดน้ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่หลุดไปบ้างเลย ทางที่ดี ก็ทาเสริมอีกรอบล่ะค่ะเป็นดี

หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว สาวๆ คงสามารถเลือกครีมกันแดดได้ดีขึ้น ไม่ต้องงงงวยกับศัพท์แปลกๆ ที่อยู่ข้างขวดหรือหลอดครีมพวกนี้อีกต่อไปนะคะ อิอิ