เพื่อนๆ เมื่อได้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว หลายๆ คนก็อยากที่จะมีลูกน้อยไว้เพื่อสืบทอดความเป็นตัวเองและวงศ์ตระกูลต่อไป แต่ยังมีขั้นตอนก่อนหน้าอยู่อีก ก่อนที่จะถึงเวลาเป็นคุณแม่จริงๆ นะคะ ซึ่งการเตรียมตัวและทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไปนี้ ก็จะทำให้ลูกเล็กๆ ในครรภ์มีโอกาสต่ำลงมากๆ ที่จะผิดปกตินะคะ เราลองมาดูกันนะคะว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง1. รู้ปุ๊บ-ฝากปั๊บ
ควรฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์นะคะ และพบแพทย์เป็นระยะทุกครั้งที่แพทย์นัดหรือเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ปัสสาวะแสบขัด ตกขาวคันหรือเหม็น ปวดศีรษะ ตามัว เด็กดิ้นน้อยลง (อันนี้ไม่ต้องกังวลสำหรับคุณแม่ท้องแรกนะคะ เพราะกว่าน้องหนูจะดิ้นได้ ก็หลายเดือนอยู่ล่ะคะ) ฯลฯ เพื่อการดูแลสุขภาพของแม่และลูก ตลอดจนรักษาหรือลดความรุนแรงของโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น อย่างทันท่วงที เรียกว่ารู้เร็ว ก็จัดการได้อยู่หมัดค่ะ
การตรวจต่างๆเมื่อมาฝากครรภ์ มีดังนี้
1.1 ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เช่น
- ซิฟิลิส
- ไวรัสตับอักเสบบี
- โรคเอดส์
1.2 ตรวจโรคทางพันธุกรรม
- ธาลัสซีเมีย
- เบาหวาน
1.3 ตรวจกรุ๊ปเลือดทั้งระบบ ABO และ ระบบ Rh
1.4 ชั่งน้ำหนัก ตรวจหาโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ วัดความดันโลหิต เพื่อดูว่าน้ำหนักของคุณแม่ (รวมทั้งคุณลูกด้วย เพราะชั่งแยกกันไม่ได้ จริงไหมล่ะคะ) เพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือมีสัญญานของโรคเบาหวานและโรคพิษแห่งครรภ์หรือไม่
1.5 ตรวจเพิ่มเติมต่างๆ ในกรณีที่จำเป็น เช่น ตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจภายใน ตรวจสุขภาพลูกในครรภ์ เป็นต้น
2 ควรดูแลตนเองในขณะตั้งครรภ์ ดังนี้
2.1 รับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มจากปกติวันละ 300 แคลอรี เพิ่มโปรตีนวันละ 7 กรัม เนื่องจากจะต้องทำการบำรุงคุณแม่นะคะ เพราะว่าลูกน้อยในครรภ์ จะดึงสารอาหารจำนวนมากออกไปจากร่างกายของคุณแม่ คือมีความสำคัญสูงกว่า ดังนั้นในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นพิเศษ เพื่อบำรุงตัวเองด้วยนะคะ และต้องรับประทานผัก ผลไม้ เพื่อช่วยการขับถ่าย
ตัวอย่างอาหาร 2 รายการ หรือ 2 เท่าของแต่ละรายการ ที่ให้พลังงาน 300 แคลอรี และโปรตีน 7 กรัม
- นม 1 แก้ว
- ไข่ 1 ฟอง
- เนื้อสัตว์ 30 กรัม
- เต้าหู้เหลืองหรือเต้าหู้ขาว 1 แผ่น
2.2 พักผ่อนให้เพียงพอ
2.3 มีอารมณ์แจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่าย อารมณ์ของคุณแม่ที่ไม่ดี จะส่งผลต่อลูกน้อยได้นะคะ
2.4 เตรียมเต้านมเพื่อพร้อมให้นมแม่
- สวมยกทรงให้พอดีกับขนาดของเต้านมที่ขยายเพิ่มขึ้นจากก่อนตั้งครรภ์ 200 กรัม เป็น 800 กรัม ไม่หลวมหรือคับเกินไป
- ช่วงใกล้คลอดอาจมีน้ำนมไหลออกมาบ้างเล็กน้อย ถ้ามีสะเก็ดแห้งที่หัวนมให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดออกเบาๆ เพื่อไม่ให้หัวนมแตก
- ถ้ามีปัญหาหัวนมสั้น/บุ๋ม หรือลานหัวนมตึงให้เข้ารับการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนคลอด เพื่อลูกจะได้ดูดนมแม่สะดวกยิ่งขึ้น
เมื่อมีอาการใดๆ ผิดปกติ หรือสงสัย ให้ปรึกษาแพทย์ทันทีนะคะ เพียงเท่านี้ ก็จะมั่นใจได้ว่า ลูกน้อยในครรภ์ รวมทั้งตัวคุณแม่เองจะมีสุขภาพดีตลอดทั้งขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดค่ะ