เปปไทด์คืออะไร


หลายปีที่ผ่านมานี้เราคงได้ยินผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์ถึงสารอย่างหนึ่งที่เรียกว่า เปปไทด์ (peptide) หลายคนคงทราบเพียงว่าเป็นสารที่ดี ทำหน้าที่ในแง่บวกต่อร่างกายขอเรา แต่ก็ไม่ทราบกันจริงจังว่ามันคืออะไร คงไม่ช้าไปที่ womanandkid.com จะนำมาเล่าให้ฟังกันนะคะ
  • เปปไทด์ในความหมายทางเคมี
โดยทั่วไปแล้ว เปปไทด์ นั้นเป็นคำเรียกรวมๆ ซึ่งจริงแล้วมีหลายชนิด และเป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างเกิดจากการเชื่อมต่อเข้าด้วยกันของกรดอมิโนต่างๆ (amino acids - เป็นส่วนประกอบย่อยที่เป็นพื้นฐานของโปรตีน) ด้วยพันธะทางเคมีที่เรียกว่าพันธะโควาเลนท์ สารประกอบที่เชื่อมเข้าด้วยกันนี้ถูกเรียกได้ว่าเป็นโพลิเมอร์ (polymer) อย่างหนึ่งเพราะโดยทั่วไปแล้วจะเชื่อมต่อกันเป็นสายโซ่ยาว สัตว์ทุกชนิดในโลกนี้ล้วนมีเปปไทด์อยู่ในร่างกายทั้งสิ้น หรือจะเรียกได้ว่าเปปไทด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานของชีวิตก็ว่าได้ และเมื่อสายโซ่ของการเชื่อมต่อนั้นยาวมากก็จะกลายเป็นโปรตีนนั่นเอง ดังนั้นจะเห็นว่า เปปไทด์ และ โปรตีน เป็นของสองอย่างที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกันมาก นักวิทยาศาสตร์ต่างศึกษาค้นคว้าใช้เวลานานหลายปีมากเพื่อต้องการรู้ว่าแต่ละอย่างนั้นมีหน้าที่การทำงานและมีผลต่อร่างกายอย่างไร
  • โปรตีนกับเปปไทด์
เส้นแบ่งว่าอะไรเป็นโปรตีนและอะไรเป็นเปปไทด์นั่นค่อนข้างไม่เด่นชัด โดยทั่วไปแล้วโปรตีนจะซับซ้อนกว่ามากเนื่องจากมีสายโซ่ที่ยาวกว่ามาก และโปรตีนส่วนใหญ่จะม้วนเป็นเกลียวกลายเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนเพื่อเชื่อมกรดอมิโนทั้งหลายเข้าด้วยกัน โดยทั่วไปแล้วเราถือว่าถ้ามีกรดอมิโนมากกว่า 50 โมเลกุลต่อเชื่อมเข้าด้วยกันจะถือว่าสารประกอบนั้นเป็นโปรตีน และถ้ามีน้อยกว่าจะถือว่าเป็นเปปไทด์
  • แล้วเปปไทด์ทำอะไรในร่างกายของเรา
เนื่องจากเรียกได้ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชีวิตเลยก็ว่าได้ เปปไทด์จึงมีหน้าที่มากมายหลายอย่างในร่างกายของคนเราขึ้นอยู่กับว่ามีกรดอมิโนใดที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เปปไทด์บางชนิดทำหน้าที่ทำให้ฮอร์โมนต่างๆ มีระดับที่ถูกต้องไม่กระเพื่อมไปมา ในขณะที่บางชนิดทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันเป็นต้น ในธรรมชาติแล้วร่างกายของคนเราสามารถสรรหาวิธีสารพัดอย่างในการสร้างเปปไทด์ขึ้นมาเองได้ เช่นถ้าเรากินเนื้อ เอนไซม์ในระบบย่อยอาหารก็จะย่อยโปรตีนในระดับที่ถูกต้องแบสร้างเปปอไทย์ที่สามารถถูกย่อยต่อไปเป็นอย่างอื่นได้ ขึ้นกับความต้องการของร่างกายเรานั่นเอง