เปปไทด์กับการบำรุงผิว


หลังจากที่เราได้คุยกันเรื่อง เปปไทด์ (peptide) กันไปทำให้ได้รู้จักว่ามันคืออะไรไปแล้ว คราวนี้ก็มาถึงข้อสงสัยว่าเปปไทด์นั้นสามารถใช้การได้ดีในการบำรุงผิวของเราหรือไม่อย่างไร อะไรที่เป็นความเป็นไปได้และมีข้อแม้อย่างไรที่จะทำให้ได้ผลจริง เราลองมาดูกันดีกว่าค่ะ
  • พื้นฐานของผิว
ผิวของคนเราเมื่อยังอายุน้อยและเด้งดึงเต่งตึงนั้น เป็นเพราะมีสารอย่างหนึ่งที่เรียกว่า คอลลาเจน (collagen) ที่เป็นฐานรองผิวอยู่และมีความเป็นสปริงอยู่  เด็กๆ จะมีคอลลาเจนจำนวนมากในขณะที่เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะสร้างคอลลาเจนได้น้อยลง ทำให้ผิวบางลง เหี่ยวเฉา และเกิดริ้วรอยขึ้น คอลลาเจนเองนั้นเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง โดยโปรตีนก็เกิดจากกรดอมิโน (amino acids) เชื่อมต่อกันเป็นสายยาว เมื่อห่วงโซ่นี้ขาดลงก็จะเหลือสายโซ่สั้นๆ ของกรดอมิโนความยาว 3-5 ตัวกลายเป็นเปปไทด์ เปปไทด์เหล่านี้ไม่ได้เป็น "ขยะ" ของคอลลาเจน แต่ยังคงเป็นโมเลกุลที่ทำงานอยู่
  • เปปไทด์กับการฟื้นฟูผิว
มีทฤษฎีเกี่ยวกับ เปปไทด์ และการทำงานของมันอยู่หลายอย่างที่ทำให้เชื่อว่ามันมีผลต่อการบำรุงฟื้นฟูการทำงานของผิว นั่นคือสามารถลดรอยเหี่ยวย่นได้และทำให้ผิวเต่งตึงดูอายุน้อยถอยลงไปได้มาก และด้านล่างนี้คือการทำงานของเปปไทด์สามประการที่ช่วยผิวของเรา

1. เปปไทด์ส่งสัญญาณให้ผิวสร้างคอลลาเจนมากขึ้น

เมื่อคอลลาเจนถูกทำลายแต่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาทดแทน ผิวเราก็ย่อมเหี่ยวเฉาและเกิดริ้วรอยเป็นธรรมดา กลยุทธ์หนึ่งนการปรับปรุงบำรุงผิวให้มีริ้วรอยน้อยลงก็คือต้องหาคอลลาเจนใหม่มาเปลี่ยนคอลลาเจนเก่าที่เสียหายไป เมื่อคอลลาเจนเสียหายหรือแตกตัวออกจะกลายเป็นเปปไทด์ชนิดหนึ่ง เปปไทด์นี้จะทำตัวเป็นเครื่องส่งสัญญาณให้ผิดรู้ว่าเปิดการเสียหายและต้องสร้างคอลลาเจนใหม่ขึ้นมา การทาหรือใส่เปปไทด์ชนิดนี้เพิ่มลงไปบนผิว (ใส่จากผลิตภัณฑ์บำรุงผิว) เชื่อว่าสามารถเป็นตัวกระตุ้นให้ผิวสร้างคอลลาเจนเพิ่มขึ้นมาได้ เปปไทด์ที่ทำหน้าที่นี้และมีชื่อเสียงดีคือ พาล์มมิทอยล์ เพนตาเปปไทด์ (palmitoyl pentapeptide) และมีผสมอยู่ในครีมบำรุงหลายระดับราคา

2. เปปไทด์ที่ใส่ทองแดงให้กับผิว

มีการวิจัยที่พบว่าอะตอมของทองแดง (copper) สามารถช่วยรักษาผิวจากอาการบาดเจ็บหรือเป็นแผลได้ และด้วยความที่เปปไทด์นั้นมีขนาดเล็ก สามารถแทรกซึมลงผิวชั้นในของเราได้ จึงมีการเพิ่มอะตอมของทองแดงเข้ากับเปปไทด์ ทำให้เปปไทด์สามารถพาเอาทองแดงลงไปยังผิวได้ เปปไทด์ทองแดง (copper peptide) เหล่านี้ดูเหมือนจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้สร้างคอลลาเจนในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ มีหน้าที่ช่วยการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอตามธรรมชาติและเปลี่ยนคอลลเจนที่เสียหายออกไป เปปไทด์ชนิดนี้ดูเหมือนจะมีหลักฐานมากที่สุดที่ทำให้เชื่อได้ว่ามันทำงานได้ผล

3. นิวโรเปปไทด์ที่อาจจะทำหน้าที่เหมือนโบท้อกซ์

เปปไทด์บางชนิดอาจทำหน้าที่สกัดกั้นการส่งสัญญาณจากระบบประสาทไปยังกล้ามเนื้อผิวหน้า เปปไทด์ตัวหนึ่งที่ชื่ออาจิรีลีน (argireline) มีผลในห้องทดลองว่าสามารถกั้นการปล่อยสัญญาณประสาทจากเซลล์ประสาทได้ ถ้าอาจิรีลีนสามารถแทรกซึมลงไปในผิวหนังในระดับกล้ามเนื้อได้ มันก็อาจจะสามารถสกัดกั้นสัญญาณประสาทได้ทำให้ผิวราบเรียบขึ้นเหมือนกับการใช้โบท้อกซ์ อย่างไรก็ตามก็มีคำถามว่าการแทรกซึมลงไปในชั้นผิวลึกขนาดนั้นจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
  • เปปไทด์อาจจะไม่ได้ผลเลยก็ได้
มีส่วนประกอบและเงื่อนไขหลายอย่างที่จะทำให้เปปไทด์นั้นทำงานได้ผลจริง เนื่องจากว่ามันเป็นโปรตีนที่แตกออกเป็นห่วงโซ่สั้นๆ เมื่ออยู่ในครีมบำรุงทั้งหลายมันจะต้องถูกรักษาเอาไว้ให้คงสภาพไม่เช่นนั้นก็จะแตกออกเป็นห่วงโซ่สั้นจิ๋วลงไปอีกจนไม่เกิดผลอะไร นอกจากนั้นจะต้องอยู่ในครีมที่ยอมให้มันแทรกซึมลงผิวได้ (เช่น ครีมต้องมีเนื้ออ่อน ละเอียด หรือเป็นน้ำ) ไม่เช่นนั้นก็จะคงค้างอยู่ที่ด้านบนของผิวและไม่เกิดปฏิกิริยาอะไรกับผิว ซึ่งในที่สุดก็จะถูกล้างออกไปตอนเราล้างหน้าอาบน้ำตามปกติ