สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง การใช้เงินจับจ่ายใช้สอย คงต้องใช้กันอย่างประหยัดเลยทีเดียวใช่ไหมคะ และการซื้อสินค้าบางอย่าง ถ้าเราไม่มีเงินสดเพียงพอที่จะซื้อในขณะนั้น เพื่อนๆ หลายคนคงพึ่งพาบริการบัตรเครดิต รูดซื้อสินค้าที่ต้องการอย่างฉับไวกันแน่เลย แต่เดาได้ว่า หลังจากนั้น เพื่อนๆ คงต้องปวดหัวกับบิลแจ้งหนี้บัตรเครดิตที่ตามมาภายหลัง เพื่อนๆ บางคนหมุนเงินจ่ายบัตรเครดิตไม่ทัน ก็อาจจะเจอกับดอกเบี้ยแสนโหดของบัตรเครดิตกันได้นะคะ เราเลยอยากเสนอเคล็ดลับคุมดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้อยู่หมัด ไม่ให้ดอกเบี้ยบานปลายได้ค่ะก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับบัตรเครดิตกันก่อนนะคะ บัตรเครดิต เป็นบริการที่สถาบันทางการเงินต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ออกให้แก่ลูกค้า เพื่อใช้จ่ายแทนเงินสดเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินในทันที ณ ร้านค้าที่รับบัตร รวมถึงร้านค้าบนอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังสามารถใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินสดจากเครื่อง ATM มาใช้ล่วงหน้าได้ และมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามรายการส่งเสริมการขาย เช่น คะแนนสะสมเพื่อแลกของรางวัล ส่วนลดจากร้านค้า การผ่อนชำระสินค้าดอกเบี้ย 0 % เงินคืนจากการใช้จ่าย (cash back) ที่จอดรถ ห้องรับรองตามสถานที่ต่าง ๆ ความคุ้มครองเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ
ตัวอย่างข้อดีของบัตรเครดิต
- สะดวกในการทำธุรกรรมการเงินผ่าน IT. เช่นซื้อของ online. จองตั๋วเครื่องบิน
- มีโปรโมชั่น ส่วนลด แต้มแลก. ผ่อนชำระ 0%
- ใช้กรณีฉุกเฉินเจ็บป่วยกะทันหัน หรือจำเป็นต้องใช้เงินสด
ตัวอย่างข้อเสียของบัตรเครดิต
- ถ้าไม่ควบคุมการใช้เงินให้ดี อาจทำให้ดอกเบี้ยบานปลายได้ และถูกเก็บเบี้ยปรับ
- เมื่อบัตรเครดิตสูญหายหรือถูกขโมยไป อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพได้
เรามาดูวิธีการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตกันค่ะ เพื่อที่จะได้ทราบว่าดอกเบี้ยคิดกันอย่างไร ทำไมถึงแพงจัง
ส่วนใหญ่ผู้ใช้บัตรเครดิต มักคิดว่าดอกเบี้ยจะถูกคำนวณจากยอดที่เหลือจากการชำระขั้นต่ำ และคิดว่าดอกเบี้ยเริ่มถูกคำนวณจากวันครบกำหนดชำระ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมากเลยนะคะ เพราะดอกเบี้ยจากการชำระยอดค่าใช้จ่ายแบบไม่เต็มจำนวนจะถูกแบ่งคำนวณเป็นสองส่วน คือ
1. ดอกเบี้ยส่วนแรก: 20% คิดจากยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่วันที่สรุปยอดรายการ จนถึงวันก่อนที่ธนาคารได้รับชำระเงินขั้นต่ำ (ทั้งนี้ ธนาคารหรือผู้ประกอบการบางราย อาจนับจำนวนวันจากวันที่เกิดรายการนั้น ๆ)
2. ดอกเบี้ยส่วนที่สอง: 20% คิดจากยอดเงินต้นคงเหลือ ตั้งแต่วันที่ทำการชำระขั้นต่ำจนถึงวันสรุปยอดค่าใช้จ่ายเดือนถัดไปนอกจากนี้หากเพื่อนๆ ชำระหนี้บัตรเครดิตไม่ถึงจำนวนเงินขั้นต่ำที่ทางผู้ออกบัตรได้กำหนดไว้ ก็จะโดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อชำระหนี้ไม่ถึงขั้นต่ำ (Underpayment Fees) อีกด้วยนะคะ
จากการคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ยกมาอธิบายให้เพื่อนๆ คงจะเห็นว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตค่อนข้างจะโหดทีเดียวเลยใช่ไหมคะ วันนี้จึงอยากแนะนำเคล็ดลับการคุมดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้อยู่หมัด ไม่ปล่อยให้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตมาทำร้ายเราได้ ดังนี้ค่ะ
- เพื่อนๆ ควรชำระยอดค่าใช้จ่ายบัตรเครดิตให้เต็มจำนวน และตรงเวลาทุกครั้ง เพื่อไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่สะสมไปทุกๆ รอบบิล จะส่งผลให้เป็นเกิดหนี้ก้อนใหญ่ในท้ายที่สุดจนไม่สามารถจัดการชำระได้
- หากเพื่อนๆ ไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ ให้เลือกชำระขั้นต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ถูกเก็บค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงถาม นอกจากนั้นหากผู้ใช้ขาดชำระติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน อาจถูกตัดสิทธิ์การใช้บัตรและถูกฟ้องร้องได้ค่ะ
- เลือกใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเฉพาะในเรื่องที่จำเป็นเพื่อไม่ให้มีภาระหนี้มากเกินความสามารถที่จะจ่าย เช่น ค่าน้ำมันเดินทางไปทำงาน ค่ารักษาพยาบาล ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ
- ควรชำระเงินหนี้ขั้นต่ำให้มากที่สุด เพราะยิ่งชำระมากเท่าไหร่ ดอกเบี้ยในส่วนที่สองก็จะลดลงมากตามไปด้วยนะคะ
- ควรกันเงินสดไว้หลังการใช้บัตรทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินเพียงพอสำหรับการชำระเต็มจำนวน
- หลีกเลี่ยงการเบิกถอนเงินสดล่วงหน้า เพราะถ้าเบิกถอนเงินสดด้วยบัตรเครดิต จะถูกคิดดอกเบี้ยฯ ตั้งแต่วันที่เบิกถอนเงินออกมา และจะต้องเสียค่าธรรมเนียมอีก 3 % ของจำนวนเงินสดที่เบิกถอนและภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งคิดจากยอดค่าธรรมเนียมการเบิกถอนด้วยค่ะ
- ควรใช้บัตรเครดิตที่มีโปรโมชัน สะสมแต้ม ส่วนลด ผ่อน 0%
- ไม่ควรรูดซื้อสินค้าเกินกว่าเงินเดือนที่ได้รับข้อนี้สำคัญมากนะคะ
- ทำบัญชีรายจ่ายบัตรเครดิตในแต่ละเดือน เพื่อตรวจสอบว่าเราไม่ใช้บัตรเครดิตเกินรายรับ
- รักษาดอกเบี้ยให้อยู่ในอัตราคงที่ โดยจ่ายยอดชำระขั้นต่ำเป็นอย่างน้อยทุกๆ เดือน
- ตรวจสอบใบเรียกเก็บเงินประจำเดือนของบัตรเครดิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรายการใช้จ่ายใดๆ ที่ผิดพลาดไปค่ะ
- เลือกใช้บัตรเครดิตที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณบทความนี้จากทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่จะช่วยให้ผู้ใช้บัตรและผู้ออกบัตรมีความสุขร่วมกันได้อย่างยาวนานแสนนานค่ะ