การแก้ไขอาการซึมเศร้า


คนเราหนึ่งคนนั้นประกอบไปด้วยส่วนของร่างกายและจิตใจ ของสองอย่างนี้จะต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบจึงจะทำให้เป็นคนที่มีสุขภาพดี คือทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ดีแล้วก็สามารถพาให้สุขภาพอีกอย่างที่เหลือแย่ลงไปได้

สภาวะซึมเศร้า

กับสถานการณ์ในปัจจุบันที่หลายคนจะต้องเผชิญกับความเครียดต่างๆ กับปัญหาที่ทับถมมาทั้งที่เกิดจากตัวเราเองและเกิดจากสภาพแวดล้อมอื่น เกิดจากคนอื่น ล้วนสามารถทำให้เราอยู่ในสภาวะเครียดเหมือนกับหาทางออกไม่ได้ มีอาการเซื่องซึม คิดอะไรไม่ออก กิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้ก็กลับทำไม่ได้ วิตกกังวล ทุกข์ใจ และขาดความมั่นใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ  หากเราจมอยู่ในสภาพเช่นนั้นเป็นเวลานานจะกลายเป็นตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า (หรือโรคซึมเศร้า) และมีความเสี่ยงต่อการตัดสินใจทำอะไรที่ผิดพลาดมากๆ ได้เช่นการฆ่าตัวตาย (ล่าสุด ดาราภาพยนตร์ชื่อดัง โรบิน วิลเลียมส์ ก็เพิ่งตกเป็นข่าวการฆ่าตัวตายเนื่องมาจากสภาวะซึมเศร้านี้เอง) ดังนั้นเรามาหาวิธีจัดการหลบหลีกปลีกพ้นจากสภาพนี้กันดีกว่าค่ะ

การแก้ไขอาการซึมเศร้า

เพื่อป้องกันไม่ให้สภาวะจิตใจที่ทำท่าไม่ค่อยจะดี ออกแนวซึม ออกทางเศร้า ไม่ให้ลุกลาทต่อไปและยับยั้งปรับเปลี่ยนให้สภาพจิตใจกลับมาเป็นปกติ เราได้รวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต (ร.พ. ศรีธัญญา) มาให้ได้ปฏิบัติกันง่ายๆ ค่ะ

1. ออกกำลังกาย
กีฬาเป็นยาวิเศษจริงๆ เพราะขณะที่เราออกกำลังกายนั้น ร่างกายจะหลั่งสารแอนโดรฟินออกมา สารนี้เป็นสารแห่งความสุขก็ว่าได้ ทำให้คลายความเศร้าลง ลดความวิตกกังวลลง นอกจากนั้นการเล่นกีฬาก็ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อน (สมมติว่าเป็นกีฬาที่เล่นกับผู้อื่นด้วย) ก็ทำให้คลายความรู้สึกโดดเดี่ยวลงได้ นี่ไม่นับว่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในด้านอื่นๆ อีก

2. หัวเราะเสียบ้าง
พูดไปก็ดูเหมือนง่ายล่ะนะคะ ก็คนกำลังซึมๆ เศร้าๆ อยู่จะให้อยู่ดีๆ หัวเราะขึ้นมาได้อย่างไร เดี๋ยวคนอื่นก็จะหาว่าเปลี่ยนจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคบ้าไปเสียก่อนเท่านั้นเอง แหมแต่การจะหัวเราะหรืออารมณ์ดีก็ไม่ยากมากนักหรอกค่ะ ลองเดินหาหนังสือสนุกหรือตลกมาอ่านเล่น หรือหาภาพยนตร์ตลกมาดู หรือนั่งฟังเพื่อนที่คุยเก่งๆ เล่าเรื่องตลกให้ฟัง แค่นี้ก็อารมณ์ดีขึ้นแล้วล่ะ

3. ระบายอารมณ์เสียหน่อย
การเก็บทุกสิ่งทุกอย่างแบกเอาไว้กับตัวนั้นมีแต่จะทำให้หนักอึ้งไปหมด แม้จะไม่หนักที่ร่างกายแต่ก็ทำให้จิตใจหนักหน่วงถ่วงชีวิตไปมาก ในทางจิตวิทยาแล้วการระบายสิ่งอัดอั้นตันใจออกมาเป็นเรื่องที่ดีและสามารถยอมรับได้ อาจจะใช้วิธีเขียนความอึดอัดลงในสมุดจดบันทึก หรือตะโกนออกมาดังๆ หรืออาจจะแอบร้องไห้เบาๆ ก็ยังพอได้ เพียงแต่เมื่อระบายแล้วก็ต้องแล้วกันไปนะคะ เดี๋ยวเศร้ากว่าเดิมจะแย่เลย

4. เม้าท์กับเพื่อนที่ไว้ใจได้
มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่เรามีความสุขที่จะอยู่ร่วมกันกับคนอื่นแทนที่จะอยู่คนเดียว และคนอื่นที่ว่านั้นจะดีมากหากเป็นเพื่อนสนิทของเราเอง การเล่าเรื่องต่างๆ ที่อึดอัดให้เพื่อนสนิทที่เราสามารถไว้ใจได้ (ว่าจะไม่เล่าต่อ, ว่าจะให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์, ว่าจะไม่ซ้ำเติมเรา) นั้นจะเป็นการลดความวิตกกังวลที่สุมมากเกินไปลง แต่ไม่แน่นะคะ เพื่อนเราอาจจะรู้สึกดีกว่าเราเพราะก็ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าเหมือนเราก็ได้ใครจะรู้

5. หัดมองโลกในแง่ดี
โลกเราไม่ได้มีแต่ความร้ายกาจเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วโลกใบนี้มีสิ่งที่ดี สิ่งที่สวยงามมากกว่าสิ่งไม่ดีอยู่มากมาย ถ้าเราไม่เอาตัวเองไปจมอยู่กับปัญหา และได้คิดอย่างรอบคอบ เราจะเห็นว่าทุกปัญหาย่อมต้องมีทางแก้ไขได้ และมีทางออกเสมอ เพียงแต่อาจจะต้องค่อยๆ แก้ไขหรือใช้เวลาสักหน่อยเท่านั้นเอง

ทั้ง 5 ข้อนี้อาจจะสามารถทำทั้งหมดหรือไม่ก็ได้ แต่หากสามารถทำตามได้ครบก็จะสามารถขจัดสภาวะซึมเศร้าลงไปได้อย่างรวดเร็ว อย่าลืมนะคะหากตัวเราเองหรือเราพบใครที่อยู่ใกล้ตัวและมีอาการที่มีแนวโน้มจะตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าได้ อย่าปล่อยให้ผ่านไปแต่ควรช่วยเหลือด้วยแนวทางเหล่านี้นะคะ อย่างไรก็ตามหากยังไม่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ก็อาจจะต้องพบจิตแพทย์ที่น่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือที่ดีกว่าได้ค่ะ