ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกร้อนๆ อันตรายหรือไม่


ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ เพื่อนๆ คงได้ยินข่าวเกี่ยวกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากเราดื่มน้ำจากขวดน้ำพลาสติก (ชนิดที่บรรจุน้ำจำหน่ายกันทั่วไป) ที่ตั้งทิ้งไว้ในรถร้อนๆ ว่าอาจจะได้รับสารก่อมะเร็งได้ หลายคนถึงกับไม่ยอมทิ้งขวดน้ำเอาไว้ในรถเลย จนเมื่อกระหายน้ำก็ไม่มีรับประทาน แต่หลังจากการพิสูจน์แล้วกลับพบว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลความจริง

สารไดออกซิน (Dioxins)

เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของกลุ่มสารที่มีโครงสร้างและสมบัติทางเคมีใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย สารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซพาราไดออกซิน (Polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) สารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ ฟูแรน (Polychlorinated dibenzo furans: PCDFs) และสารกลุ่มโพลีคลอริเนตเตทไบฟีนิล ที่มีสมบัติคล้ายสารไดออกซิน (Dioxins–like polychlorinated biphenyls: DL-PCBs) ซึ่งกลุ่มสารไดออกซินที่ก่อให้เกิดพิษมี 29 ตัว และสารแต่ละตัวจะมีค่าความเป็นพิษแตกต่างกัน โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือว่าสาร 2,3,7,8–เตตราคลอโรไดเบนโซพาราไดออกซิน (Tetrachlorodibenzo-para-dioxin) (2,3,7,8-TCDD) เป็นสารที่มีความเป็นพิษสูงสุด

สารไดออกซินเกิดได้อย่างไร

ในเมื่อเราทราบกันว่าสารไดออกซินนั้นมีพิษ แล้วทำไมเรายังกลัวมันอีกล่ะ ที่กลัวก็เพราะว่ามันมักจะแอบก่อกำเนิดโดยไม่ได้ตั้งใจ คือเป็นผลพวงจากปฏิกริยาความร้อนเช่นการเผาไหม้ของสารที่มีธาตุคลอรีนเป็นองค์ประกอบอยู่ (ซึ่ง ก็มีมากมายหลายอย่างเสียด้วยสิ) โดยเฉพาะการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ โดยการสร้างกลุ่มสารไดออกซินจากการเผาไหม้จะอยู่ในช่วงอุณหภูมิประมาณ 200-550 องศาเซลเซียสทำให้มีการปลดปล่อยและสะสมสารกลุ่มนี้ในสิ่งแวดล้อมและอาจจะผสมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ได้ แต่ก็มีข่าวดีที่เจ้าสารนี้จะเริ่มถูกทำลายด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียสขึ้นไป

ขวดน้ำที่เราใช้กันอยู่

สำหรับขวดน้ำที่เราใส่น้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ตามก็จะมีอยู่ 2 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่นซึ่งทำจากพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน (Polyethylene - PE) และขวดใสไม่มีสีทำจากพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate - หรือที่เราเรียกว่าขวด PET) สำหรับขวดบรรจุน้ำชนิดเติมขนาด 20 ลิตรจะทำจากวัสดุ 3 ชนิด คือขวดสีขาวขุ่นทำจากพลาสติก ชนิดโพลิพรอไพลีน (Polypropylene - PP) หรือขวดใสสีฟ้าหรือเขียวอ่อนซึ่งทำจากพลาสติกชนิดโพลิคาร์บอเนต (Polycarbonate) และขวดพลาสติกชนิด PET ซึ่งพลาสติกเหล่านี้ล้วนไม่มีธาตุคลอรีนเป็นองค์ประกอบที่จะเป็นต้นกำเนิดของไดออกซินได้เลย และแม้ว่าอาจจะมีขวดหรือภาชนะที่ทำจากพลาสติกแบบโพลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride - PVC) ซึ่งจริงอยู่ว่ามีธาตุคลอรีนเป็นองค์ประกอบแต่อุณหภูมิของน้ำในขวดไม่ได้สูงมากพอที่จะท้าให้เกิดสารไดออกซินขึ้นมาได้ (ต้องสูงระดับ 200-550 องศาเซลเซียสโน่นล่ะ) อีกทั้งไม่นิยมใช้เพื่อบรรจุน้ำบริโภคอีกด้วย

การทดสอบทดลอง

จากการทดสอบและทดลอง นำขวดน้ำต่างๆ ที่เราใช้กัน ใส่น้ำแล้ววางไว้ในรถตั้งแต่ 1-7 วัน แล้วตากแดด (อย่างมากก็คงมีอุณหภูมิ 60-70 องศาเซลเซียสเท่านั้น) แล้วนำมาตรวจสอบ ก็ไม่ทบว่ามีสารไดออกซินแต่อย่างใด นั่นคือไม่ว่าในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติแล้ว เราไม่พบว่าการนำขวดน้ำพลาสติกต่างๆ ที่กล่าวถึงด้านบน ใส่น้ำแล้วทิ้งไว้ในรถ จำทำให้เกิดสารไดออกซินปะปนออกมาทำอันตรายกับเราได้ค่ะ