รู้จักกับโอเมก้า6 กันดีกว่า


ในบทความคราวที่แล้วที่ได้เขียนให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันในเรื่องของโอเมก้า3 (อ่านบทความเรื่อง โอเมก้า3 สำคัญอย่างไร ที่นี่) กันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูคู่แฝดของมันกันสักหน่อยดีกว่า คู่แฝดที่ว่านี้ก็คือ โอเมก้า6 ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะคุ้นหูคุ้นตากันบ้างหรือเปล่านะคะ แต่ไหนๆ ก็เปิดหน้าบทความนี้แล้ว ลองมาดูกันหน่อยคงจะเป็นประโยชน์กับสุขภาพและความสวยความงามของสาวๆ เรานะคะ

โอเมก้า 6 คืออะไร

กรดไขมันโอเมก้า 6 เป็นกรดไขมันชนิดดีอีกชนิดหนึ่ง คือเป็นแบบไขมันห่วงโซ่ยาว คือมีอะตอมของคาร์บอนมากและมีพันธะคู่มากกว่าหนึ่งแห่งในห่วงโซ่ และมีพันธะคู่ตัวแรกอยู่ที่อะตอมของคาร์บอนตัวที่ 6 ของสายห่วงโซ่ (เลยเรียกว่าโอเมก้า 6 ไงล่ะคะ) โดยที่ร่างกายของเราไม่สามารถสร้างพันธะคู่ที่ตำแหน่งอะตอมของคาร์บอนตัวที่ 3 (ในกรณีของโอเมก้า 3) หรือตัวที่ 6 (ในกรณีของ โอเมก้า 6 นี้) จึงจำเป็นที่เราจะต้องรับประทานเข้าไปโดยตรงจากภายนอก โอเมก้า 6 เป็นไขมันแบบไม่อิ่มตัว ที่ช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้ แต่โดยทั่วไปที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงเพราะว่าในการรับประทานอาหารตามปกติของเรา เรามักจะได้รับกรดไขมันชนิดโอเมก้า 6 นี้อย่างเพียงพออยู่แล้วและดูเหมือนจะมากเกินไปด้วยในบางครั้ง

แหล่งของ โอเมก้า 6

ไขมันโอเมก้า 6 หลักๆ ในอาหารก็คือกรดไลโนเลอิก (Linoleic acid, LA) และได้มาจากน้ำมันพืชต่างๆ เมื่อเรารับประทานน้ำมันพืชเข้าไป ร่างกายจะสามารถเปลี่ยนกรดไลโนเลอิกไปเป็นกรดแกมมา-ไลโนเลอิก (Gamma-linolenic acid, GLA) และกรดอะราคิโดนิก (Arachidonic acid, AA) กรดทั้งสองตัวนี้ก็ยังถือว่าเป็นกรดไขมันโอเมก้า 6 อยู่ น้ำมันพิเศษบางอย่างเช่นพริมโรส (Primrose oil) ก็มีกรดแกมมา-ไลโนเลอิกอยู่

ผลต่อร่างกายของเรา

ในร่างกายของเรานั้น ไขมันโอเมก้า 6 จะเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ มีหน้าที่ส่งผ่านคำสั่งทางเคมีในร่างกาย โอเมก้า 6 ในหลายรูปแบบทำให้เกิดการอักเสบได้ในร่างกายเราซึ่งเป็นผลเสีย แต่โอเมก้า 6 ที่อยู่ในรูปของกรดแกมมา-ไลโนเลอิก (GLA) ดูจะต้านการอักเสบได้ อย่างไรก็ตามกรดไลโนเลอิกหรือโอเมก้า 6 ก็ยังช่วยผู้ที่ผิวแห้งได้ (อ่านบทความเรื่อง อาหารสำหรับผิวแห้ง ที่นี่) ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยทำให้ผิวพรรณผ่องใสและนุ่มเนียน ข้อนี้คงถูกใจสาวๆ ที่สนใจเรื่องความสวยความงามเป็นหลักล่ะค่ะ

อะไรล่ะที่สำคัญกับเรา

เมื่อเรารู้จักแล้วว่าไขมันโอเมก้า 6 คืออะไร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามันมีทั้งประโยชน์ (เมื่อรับประทานพอดี มีพอดี) และมีโทษ (เมื่อรับประทานมากเกินไป) เพื่อนๆ ก็คงสงสัยว่า แล้วเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะผลการศึกษาวิจัยบอกไว้ว่า ถ้าเราสามารถรักษาระดับของสัดส่วนการรับประทานโอเมก้า 6 ต่อ โอเมก้า 3 เป็นระหว่าง 1:1 ถึง 4:1 อย่าให้เกินนั้น ก็จะเป็นการดีต่อสุขภาพ แต่โดยทั่วไป สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยได้รับประทานไขมันจากปลา (โอเมก้า 3) สัดส่วนนี้อาจจะแย่กว่ามาก เช่นเป็น 20:1 ซึ่งหมายถึงร่างกายได้รับโอเมก้า 3 น้อยไป และได้รับโอเมก้า 6 มากเกินไป ก็จะเป็นสภาวะที่ไม่ดีต่อร่างกายของเราค่ะ