กลื่นปากที่ว่านี้คงไม่ใช่กลิ่นแบบที่หอมหวลชวนดมเป็นแน่ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นเราคงไม่ต้องจัดการกับมัน กลิ่นปากที่ไม่ดีเป็นสิ่งที่ลดทอนความมั่นใจในตัวเอง ทำให้เสียบุคลิกภาพ พลอยทำให้การติดต่องานการต่างๆ เสียหายไปด้วยจริงๆ แล้วเรื่องการจัดการกับกลิ่นปากเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนอะไรนัก เพียงแต่เรากำจัดแหล่งที่มาของกลิ่นและกระบวนการต่อเนื่องที่จะทำให้เกิดกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์ได้ ก็จะทำให้กลิ่นปากหายไปจากชีวิตได้ไม่ยากนัก ด้านล่างนี้เป็นเคล็ดไม่ลับวิธีการที่เราสามารถนำไปใช้ได้ เพื่อให้ปากหอมสดชื่นเป็นที่ชื่นชมของผู้ที่เราเจรจาด้วยค่ะ
1. รักษาความสะอาดช่องปาก
จัดการทำความสะอาดช่องปากให้ดี ซึ่งหมายถึงฟัน ซอกฟัน ลิ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ดูดีไม่มีเศษอาหารติดค้าง แต่เพื่อทำให้สุขภาพช่องปากดีและไม่มีกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์ด้วย เพราะแหล่งที่มาสำคัญของกลิ่นปากก็คือเศษอาหารที่ติดค้างและแบคทีเรียที่อาศัยในช่องปากนั่นเอง และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นอย่าลืม แปรงลิ้น และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันด้วย
2. ทำให้ปากชื้นเข้าไว้
อันนี้มีความหมายต่างจากคำพูดที่ว่าปากเปียกปากแฉะนะคะ แต่หมายถึงการทำให้ปากมีความชื้นอยู่ตลอด หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม เคยสังเกตไหมคะว่าตอนเช้าเรามักมีกลิ่นปาก (บ้าง หรืออย่างน้อยก็มากกว่าในช่วงอื่นของวัน) เหตุผลก็เพราะในตอนกลางคืนที่เรานอนหลับปากของเราจะผลิตน้ำลายออกมาน้อยลง น้ำลายของเรามีคุณสมบัติในการจัดการกับแบคทีเรีย เมื่อน้ำลายน้อยลงศัตรูของแบคทีเรียก็น้อยลง นอกจากนั้นน้ำลายยังทำหน้าที่ชะล้างเอาแบคทีเรียและเศษอาหารออกไปด้วย ตรงจุดนี้ การเคี้ยวหมากฝรั่งอาจจะมีส่วนช่วยให้มีการหลั่งน้ำลายออกมาซึ่งช่วยทำให้ปากชื้นได้ การกลั้วปากด้วยน้ำก็เป็นการช่วยล้างปากได้ด้วย
3. กลิ่นปากเรื่องกล้วยๆ
เราคงพอทราบกันมาแล้วว่า ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นแรง ไม่ว่าจะเป็นกระเทียม หอม กาแฟ หรืออย่างน้อยก็ควรจะจัดการแปรงฟันบ้วนปากให้เรียบร้อยหลังการรับประทานอาหารเหล่านั้น แต่ทราบหรือไม่ว่าสำหรับสาวๆ ที่พยายามลดความอ้วนโดยการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต (แป้ง) น้อยลงนั้น อาจจะทำให้เกิดกลิ่นของคีโตน (ketone, เป็นสารประกอบชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นเฉพาะตัว) เพราะเมื่อร่างกายต้องย่อยสลายไขมันแทนคาร์โบไฮเดรตเพื่อสร้างพลังงานจะเกิดคีโตนขึ้นและจะปล่อยออกมาในปากของเราด้วย ดังนั้นถ้าสาวๆ รับประทานอาหารจำพวกแป้งน้อย หรือทำอะไรก็ตามที่เป็นการบังคับขู่เข็นให้ร่างกายต้องเผาผลาญไขมันในปริมาณมากแล้วล่ะก็ ต้องจัดการเติมแป้งลงไปในอาหารบ้างแล้วล่ะ และหนึ่งในนั้นก็คือ กล้วย นั่นเองค่ะ
4. ปรึกษาแพทย์
ถ้าได้ทำตามขั้นตอนต่างๆ ด้านบนแล้ว แต่ยังมีกลิ่นปากรบกวนอยู่ล่ะก็ อาจจะถึงคราวที่จะต้องปรึกษาแพทย์สักหน่อยแล้ว เพราะกลิ่นที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นความผิดปกติภายใน จะได้รับการรักษาหายารับประทานให้ถูกต้อง ความผิดปกติอาจจะเป็น
- มีก้อนทอนซิล (tonsil stone, เป็นก้อนสีเหลืองๆ เกาะอยู่ที่ทอนซิล บางครั้งเรียกว่านิ่วทอนซิล) เกิดจากอาหารประเภทแคลเซียม น้ำเมือก หรือแบคทีเรียมาเกาะอยู่ บางทีอาจจะสังเกตด้วยตาได้ยาก แต่อาจจะรู้สึกเหมือนมีรสคล้ายโลหะอยู่ในปาก หรืออาจจะรู้สึกเจ็บคอเมื่อกลืนน้ำลายได้
- แปรงลิ้นภาวะโรคเบาหวาน ที่ทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันแทนกลูโคส ซึ่งจะทำให้เกิดกลิ่นปากที่เป็นกลิ่นเฉพาะของคีโตนเหมือนที่อธิบายในข้อที่ 3 ด้านบน ซึ่งถือว่าเป็นสภาวะผิดปกติที่จะต้องได้รับการรักษาดูแลจากแพทย์โดยเร็วค่ะ