ชนิดและแหล่งของไบโอฟลาโวนอยด์


ในบทความที่แล้วที่เราได้พูดเรื่อง ไบโอฟลาโวนอยด์ เราได้รู้จักว่ามันแล้วว่าคือสารประกอบจำนวนหลายอย่างที่พบได้ในพืช ที่โดดเด่นคือเมื่อมันทำงานร่วมกับวิตามินซีแล้ว จะสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอกของร่ากายได้ดีขึ้นไปอีก ซึ่งมีประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่้เป็นนักกีฬาและต้องการรักษาอาการบาดเจ็บเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ มาในบทความนี้เรามาดูกันต่อว่า แล้วเจ้าไบโอฟลาโวนอยด์นั้นมีกี่ชนิดและเราจะหารับประทานจากไหนได้บ้าง

ไบโอฟลาโวนอยด์เองนั้นไม่ใช่วิตามิน แต่ด้วยความที่มันมีประโยชน์ต่อการทำงานของวิตามินหลายอย่าง หรือเรียกได้ว่าถ้าร่างกายได้รับแต่วิตามินโดยขาดไบโอฟลาโวนอยด์ไปแล้วล่ะก็ วิตามินนั้นก็ไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับร่างกายได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเจ้าไบโอฟลาโวนอยด์ถึงกับได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่าเป็น วิตามินพี กันเลยทีเดียว ซึ่งไบโอฟลาโวนอยด์นี้มีหลายชนิดซึ่งต่างชนิดกันก็มีผลต่อร่างกายต่างกัน และมีอยู่ในอาหารต่างชนิดกันที่เราสามารถหารับประทานได้ดังนี้ค่ะ

เควอซิทิน (Quercetin)

เป็นสารเคมีที่พบได้ในพืช มักจะอยู่ตามเปลือกไม้และผลไม้ เป็นไบโอฟลาโวนอยด์ที่มีประสิทธิภาพต่อต้านอนุมูลอิสระและลดอาการอักเสบ ซึ่งทำให้นำมาใช้ช่วยบำรุงสุขภาพได้มากมาย เช่น ใช้ลดอาการแพ้ได้เนื่องจากช่วยลดการปล่อยฮิสตามีนจากเซลล์มาสโตไซท์ได้ แหล่งของเควอซิทินที่ดีเช่น แอปเปิ้ล, ชา, หัวหอม, และไวน์แดง เป็นต้น (โดยเฉพาะข้อหลังสุดนี้ อาจจะถูกใจสาวๆ หลายคนนะคะ)

พิกนาห์จีนอล (Pycnogenol)

ไบโลฟลาโวนอยด์ตัวนี้มีประสิทธิภาพเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่โดดเด่นกว่าวิตามินซีและวิตามินอีเสียอีก และยังทำให้การทำงานของวิตามินทั้งสองดีขึ้นด้วย พิกนาห์จีนอลมีประโยชน์ต่อหลอดเลือดหัวใจ ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกับ ช่วยทำให้ผิวพรรณดูดีขึ้น ช่วยในกรณีหลอดเลือดดำโป่งขอด ช่วยลดอาการไขข้ออักเสบและลดอาการติดเชื้อ แต่สำหรับแหล่งของพิกนาห์จีนอลนั้นเราคงไม่สามารถไปรับประทานมันง่ายๆ เพราะจะพบได้มากที่เปลือกของต้นสนของแถบยุโรป ดังนั้นการรับประทานอาหารเสริมที่มีพิกนาห์จีนอลโดยตรงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่าไปแทะเปลือกไม้สนล่ะค่ะ

รูติน (Rutin)

เป็นไบโลฟลาโวนอยด์ที่มีส่วนประกอบทางเคมีของเควอซิทิน (Quercetin) และรูติโนส (Rutinose) เป็นไบโอฟลาโวนอยด์ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่จะไปรวมตัวกับอิออนของโลหะหนัก (เช่น เหล็ก, Fe) ทำให้ไม่ไปทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลายเป็นอนูมูลอิสระ (free radical) และไปสร้างปัญหาให้กับร่างกายซึ่งรวมทั้งมะเร็งได้ รูตินยังช่วยระบบหลอดเลือดให้แข็งแรง ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้นอีก ที่สำคัญกว่านั้นก็คือมันช่วยทำให้ปริมาณของคอลลาเจนในผิวคงที่ ไม่น้อยเกินไป ทำให้มีส่วนช่วยในการต้านริ้วรอยไปด้วยในตัว รูตินมีมากในเปลือกแอปเปิ้ล ผลไม้ประเภทส้ม มะนาว และชาดำ และที่แน่ๆ ก็คือในอาหารเสริมที่สกัดเอารูตินออกมาโดยเฉพาะ

เฮสเพอริดิน (Hesperidin)

ไบโลฟลาโวนอยด์ตัวนี้พบได้มากในผักสีเขียว และส่วนที่เป็นเยื่อใยของผลไม้ประเภทส้ม ที่อยู่กับเปลือกเมื่อเราปอกออกมานั่นแหละค่ะ ดังนั้นใครที่ไม่ชอบรับประทานใยบางๆ เหล่านี้อาจจะต้องเปลี่ยนใจเมื่อพบว่ามันช่วยรักษาหลอดเลือดฝอย ทำให้หลอดเลือกหัวใจแข็งแรง การขาดเฮสเพอริดินมากๆ อาจจะทำให้เกิดอาการหลอดเลือดฝอยแตก หรือ ตะคริวได้

จริงแล้วเมื่อดูดีๆ จะเห็นได้ว่าไบโลฟลาโวนอยด์มีอยู่ในอาหารประเภทผักและผลไม้จำนวนมาก ที่สำคัญก็คือผักใบเขียวและผลไม้ประเภทส้ม และแถวๆ เปลือกของผลไม้ต่างๆ ดังนั้นถ้าเรารับประทานผักใบเขียวมากๆ ทุกวัน และรับประทนผลไม้ที่ไม่กำจัดเปลือกของมันทิ้งไปเสียทั้งหมด ก็น่าจะทำให้เราได้รับไบโลฟลาโวนอยด์มากพอควรในแต่ละวัน แต่ถ้าไม่แน่ใจแล้วล่ะก็ อาจจะต้องพึ่งพาอาหารเสริมที่สกัดสารพวกนี้ออกมาไว้รอเราแล้วบ้าง ก็เป็นความคิดที่ไม่เลวนะคะ