วงจรชีวิตของเส้นผม


ในร่างกายของมนุษย์เราแล้ว มีอวัยวะมากมาย ทั้งลำตัว แขน ขา รวมทั้งประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่มีตามธรรมชาติ ทุกอย่างล้วนมีประโยชน์ในการดำรงชีวิตของเราทั้งนั้น หนึ่งในอวัยวะที่เรามีก็คือเส้นผม และเส้นขนรอบๆ ตัวเรา ซึ่งเชื่อกันว่ามีประโยชน์ในการปกครุมศีรษะ และมีหน้าที่ป้องกันผิวหนังศรีษะไม่ให้สูญเสียความร้อนมากเกินไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีอากาศเย็น) เพราะบริเวณหนังศรีษะของคนเรามีเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก เส้นผมจะทำหน้าที่ป้องกันการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายได้บ้าง แต่สาวๆ ทราบหรือไม่คะว่า รูขุมขนที่สร้างเส้นผมนั้น ไม่ได้มีชีวิตอยู่กับเราตลอดไปหรอก แต่มีวงจรชีวิตของมันเอง ซึ่งหากเราเข้าใจมัน เราก็สามารถจัดการดูแลเส้นผมของเราได้ดีขึ้นนะคะ

เส้นผมของคนเราประกอบไปด้วยโปรตีนที่เรียกว่าคีราติน (keratin) ซึ่งเหมือนกับโปรตีนที่สร้างเล็บและผิวหนังของเรานั่นแหละค่ะ และเส้นผมประกอบไปด้วยชั้นทั้งหมด 3 ชั้นคือเปลือกด้านนอก (Cuticle) มีหน้าที่ป้องกันเส้นผม, และเปลือกชั้นใน (Cortex) ซึ่งทำให้ผมแข็งแรงและมีสีต่างๆ, และแกนกลาง (Medulla) (อ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่อง ผมสุขภาพดีเป็นอย่างไร) ทีนี้เส้นผมไม่ได้เกาะอยู่กับผิวหนังเราเฉยๆ แต่เจริญเติบโตออกมาจากสิ่งที่เรียกว่ารากผม ซึ่งอยู่ภายในรูขุมขน (follicle) อีกทีหนึ่ง ที่ฐานของรูขุมขนจะเป็น เดอร์มัล แปปิลลา (Dermal Papilla) ซึ่งเป็นส่วนของหนังแท้ ที่ประกอบด้วยเส้นประสาท และหลอดเลือด ยื่นเข้าไป หล่อเลี้ยงเซลล์ผมบริเวณรากผมเพื่อการสร้างเส้นผมใหม่ หรือให้เส้นผมเก่ายาวขึ้น ซึ่งส่วนของ เดอร์มัล แปปิลลา นี้เป็นโครงสร้างที่สำคัญมากในการเติบโตของเส้นผมหรือเส้นขนเพราะมีเซลล์เป้าหมายที่สามารถรับฮอร์โมนเพศชายต่างๆ และฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งทั้งหมดจะมีอิทธิพลต่อการเติบโตหรือการหดตัวของรูขุมขนซึ่งเป็นผลให้เส้นผมแข็งแรงหรือหลุดร่วงได้ต่อไป

วงจรชีวิตของเส้นผม

นอกเรื่องไปมาก มาเข้าเรื่องของวงจรชีวิตของเส้นผมกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้างและแต่ละช่วงมีลักษณะเป็นอย่างไร โดยสรุปแล้ววงจรชีวิตของรูขุมขนหรือรากผมจะมี 3 ช่วง โดยจะวนเวียนซ้ำไปเรื่อยๆ ซึ่งก็แปลกดีนะคะ ไม่เหมือนกับวงจรชีวิตของยุง ของแมลง อะไรพวกนั้นที่สุดท้ายก็โตเต็มที่แล้วตายไป โดยระยะต่างๆ ของเส้นผมคือ

1. ระยะอานาเจน (Anagen Phase)

เป็นระยะเติบโต ในเวลาหนึ่งๆ แล้วร้อยละ 85 ของเส้นผมของคนเราจะอยู่ในระยะนี้ซึ่งจะกินระยะเวลาตั้งแต่ 2 ถึง 6 ปีเลยทีเดียว เส้นผมที่อยู่ในระยะนี้จะยาวขึ้นปีละ 10 เซนติเมตร และโดยทั่วไปเส้นผมก็มักจะไม่ยาวเกินไปกว่า 1 เมตร (อันนี้คงจะสำหรับคนทั่วไปนะคะ เพราะว่าผู้เขียนเคยมีเพื่อนเป็นชาวอินเดียที่ไม่ตัดผมเลย มีผมที่ยาวมากกว่าหนึ่งเมตรแน่ๆ แต่ก็ดูแลรักษายากมากเช่นกัน)

2. ระยะคาตาเจน (Catagen Phase)

เป็นระยะแปรเปลี่ยนจากปลายของระยะอานาเจน ก็จะเข้าสู่ระยะคาตาเจนซึ่งกินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ในระยะนี้รูขุมขนจะหดตัวลง นั่นคือรูขุมขนจะตื้นมาก ทำให้ส่วนล่างที่เคยต่อเชื่อมกับ เดอร์มัล แปปิลลา ถูกตัดขาดออกจากกัน เส้นผมหรือเส้นขนในระยะนี้จะบางลงและมีสีซีดลงเนื่องจากสูญเสียเซลล์สี บนร่างกายของเราจะมีเส้นผมหรือเส้นขนที่อยู่ในระยะนี้ประมาณร้อยละ 2 ค่ะ

3. ระยะเทโลเจน (Telogen Phase)

เป็นระยะพักตัวซึ่งจะกินเวลาประมาณ 1.5-3 เดือน ในระหว่างนี้เส้นผมที่ลีบแบนและซีดจะหลุดร่วงออกมา ถ้าคำนวณจากสิ่งที่ทราบด้วยว่าในเวลาหนึ่งๆ เส้นผมหรือเส้นขนประมาณร้อยละ 10-15 บนร่างกายของเราจะอยู่ในระยะนี้ จะทำให้เราเห็นการหลุดร่วงของเส้นผมวันละประมาณ 100 เส้นซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ในกรณีส่วนใหญ่ร่างกายจะเริ่มสร้างรูขุมขนใหม่โดยสเต็มเซลล์ของเส้นผมและเติบโตจนเริ่มเข้าสู่ระยะอานาเจนต่อไป ในบางกรณีรูขุมขนเดิมที่อยู่ในระยะเทโลเจนอาจจะกลับเติบโตเข้าสู่ระยะอานาเจนก็ได้ โดยจะเริ่มสร้างเส้นผมหรือเส้นขนใหม่ขึ้นมา และหากเส้นผมหรือเส้นขนเดิมยังไม่หลุดร่วงออก เส้นขนใหม่นี้ก็จะดันเอาเส้นขนเก่าออกมาเอง และทุกอย่างก็จะเริ่มวนเวียนอีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้สาวๆ ก็พอจะทราบวัฏจักรวงจรชีวิตของเส้นผมกันแล้วนะคะ และทราบว่าเส้นผมของคนเราต้องหลุดร่วงบ้างไปตามธรรมชาติเนื่องจากเส้นผมและรูขุมขนมีวัฏจักรชีวิตของมัน แต่ถ้าเห็นว่าเส้นผมหลุดร่วงมากเกินไปขนาดทำให้ท่อระบายน้ำตันแล้วล่ะก็ ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องเส้นผมดูบ้างก็น่าจะไม่เสียหายนะคะ