เพื่อนๆ คงพอทราบแล้วว่า วิตามินต่างๆ นั้นเป็นประโยชน์กับร่างกาย นอกจากจะสำคัญต่อการเสริมสร้าง ช่วยเหลือ การทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกายแล้ว วิตามินหลายชนิดยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระชั้นดีอีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีวิตามินอีกหลายชนิดที่ช่วยเสริมสร้างความสมบูรณ์ของผิวพรรณ สร้างความสวยความงามให้กับผิวหน้าและผิวกายของเราได้อีกด้วยวิตามินหนึ่งที่มีความสำคัญและให้ประโยชน์กับผิวของเราก็คือวิตามินเอ (Vitamin A) ซึ่งช่วยในการบำรุงสายตา ช่วยในการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ช่วยลดการอักเสบของเซลล์ มีฤทธิ์เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants, อ่านเรื่อง สารต่อต้านอนุมูลอิสระคืออะไร ที่นี่) และที่สำคัญคือช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์บุผิวและพัฒนาการของเซลล์ ทำให้ในปัจจุบันมีการนำประโยชน์ของวิตามินเอมาใช้ในการดูแลผิวพรรณ คือช่วยป้องกันและรักษาภาวะแก่เหี่ยวเฉาของผิวหนัง ซึ่งวิตามินเอจะช่วยให้ริ้วรอยเหี่ยวย่นลดลง ช่วยให้ผิวเนียน ไม่หยาบกร้าน เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการซ่อมแซมและฟื้นตัวของผิวหนังจากการถูกทำลายโดยสิ่งแวดล้อมได้ มีรายงานบางแห่งบอกว่าวิตามินเอสามารถช่วยลดรอยที่อาจจะเกิดจากแผลเนื่องจากการเป็นสิวได้อีกด้วย เป็นอย่างไรคะ แค่นี้ก็พรรณาคุณประโยชน์กันแทบไม่ไหวแล้ว
เรตินอลและเรตินอยด์ (Retinol & Retinoid)
คราวนี้ก็มีคำถามว่า หากเราต้องการใช้วิตามินเอในการเสริมสร้างความสวยความงามให้กับตัวเราเอง เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง อย่างแรกที่ทำได้แน่นอนก็คืออาจจะหาวิตามินเอที่อยู่ในรูปเม็ดมารับประทาน แต่หากต้องการให้เป็นยาเฉพาะที่ และใช้กับผิวพรรณจริงๆ ล่ะเราจะทำอย่างไร ก็เลยมาถึงตัวยาหรือสารเคมีที่มีชื่อว่า เรตินอลและเรตินอยด์ นั่นเอง แล้วมันคืออะไรล่ะ ใจเย็นๆ ค่ะ ค่อยๆ มาดูกันต่อนะคะ
เรามาพูดถึงเรตินอลกันก่อน ซึ่งเรตินอลนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามินเอ และสามารถแปลงร่าง (แปลงในร่างกายของเรานี่ล่ะค่ะ) เป็นรูปอื่นของวิตามินเอได้อีก อาจจะเพื่อการใช้งานในรูปแบบอื่น หรือเพื่อการเก็บไว้ใช้งานก็ได้ (เมื่ออยู่ในเซลล์ของเรา เรตินอลจะถูกเก็บในรูปของเรตินิลเอสเทอร์ - Retinyl Ester) ถ้าเรตินอลแปลงเป็นเรตินัลดีไฮด์ (Retinaldehyde) หรือวิตามินเอที่เรารู้จักกัน ก็จะมีประโยชน์ต่อสายตา ถ้าเรตินอลแปลงเป็นกรดเรติโนอิก (Retinoic acid) ก็จะเป็นรูปที่ดีต่อผิวพรรณ ดีต่อฟันและการเติบโตของกระดูก โดยสารพัดรูปแบบของเรตินอลนี้จะถูกเรียกรวมๆ กันว่า เรตินอยด์ (Retinoid) โดยที่รูปที่มีผลต่อเราน้อยที่สุดคือรูปเรตินิลเอสเทอร์ และที่มีผลต่อเรามากที่สุดคือในรูปกรดเรติโนอิก (ดูภาพประกอบของบทความนี้)
แล้วต่างกันอย่างไร
เรตินอล (Retinol) และ เรตินอยด์ (Retinoid) ฟังดูแล้วก็คล้ายๆ กัน แต่จากข้างบนเพื่อนๆ ก็จะรู้ว่าไม่เหมือนกันสักเท่าไรโดยที่เรตินอยด์นั้นเวลาจะใช้งานจะต้องได้รับใบสั่งแพทย์เท่านั้น และอย่างที่บอกไว้ด้านบนว่ามีประโยชน์ต่อผิวพรรณ แก้ไขอาการเหี่ยวเฉาของผิวได้ และแก้ไขผิวที่เสียหายจากการได้รับรังสียูวีได้ และช่วยลดอาการอักเสบได้อีก แต่เนื่องจากว่ากลไกการทำงานของเรตินอยด์นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของเนื้อเยื่อของผิว จึงอาจจะทำให้เกิดการบวมแดงหรือผิวเป็นขุย ได้ โอ้ว จะเห็นว่าฤทธิเดชนั้นใช้ได้เลย
ในทางตรงกันข้าม เรตินอล จะเป็นรูปที่อ่อนกว่า เรตินอยด์ มาก แต่เมื่อเราทาลงบนผิวแล้ว มันก็จะค่อยๆ แปลงสภาพไปเป็นเรตินอยด์อย่างช้าๆ แต่ด้วยความเข้มข้นที่ต่ำกว่ามาก แต่ข้อดีของการที่ความเข้มข้นต่ำกว่านี้ก็คือ การระคายเคืองต่างๆ จะน้อยกว่ามาก ข้อเสียก็อย่างที่พอจะเดาได้ล่ะค่ะว่า ฤทธิเดชก็จะน้อยกว่าเรตินอยด์อยู่พอควร เอกสารบางอย่างระบุว่า เรตินอลจะมีความรุนแรงต่ำกว่าเรตินอยด์ประมาณหนึ่งในสี่ แต่โดยปกติแล้วในเครื่องสำอางต่างๆ เขาก็ไม่ได้เขียนบอกไว้อยู่ดีว่ามีอะไรอยู่ในปริมาณเท่าไร ที่บอกว่าใส่ลงไป อาจจะมีเพียงนิดเดียวก็ได้
มาถึงตรงนี้ เพื่อนๆ คงพอทราบแล้วนะคะว่า ของสองอย่างคือเรตินอลและเรตินอยด์นี้จะเป็นของที่คล้ายคลึงกัน เพียงแต่อาจจะมีฤทธิไม่เท่ากัน โดยที่ทั้งสองอย่างก็เป็นรูปแบบต่างๆ ของวิตามินเอ ที่ช่วยทำให้ผิวพรรณของเราดูอ่อนกว่าวัยได้ (อ่านบทความเรื่อง อะไรในเครื่องสำอางที่ทำให้ดูอ่อนกว่าวัย ที่นี่) ถ้าจะลงในรายละเอียดมากไปกว่านี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นวิชาชีวเคมีไปเสียก่อน อาจจะสร้างความปวดศีรษะทำให้ขาดความสวยความงามไปจากใบหน้าเสียก่อน (รวมทั้้งของผู้เขียนด้วยค่ะ อิอิ)