บทบาทของฮอร์โมนบางอย่าง


ฮอร์โมน เป็นสารเคมีอย่างหนึ่งที่ถูกร่างกายสร้างขึ้น อาจจะโดยต่อมไร้ท่อ หรือเนื้อเยื่อบางส่วนของร่างกาย จากนั้นก็จะถูกส่งไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายเราผ่านทางกระแสเลือด ฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่อย่างสมดุล เพื่อให้เรามีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข และปราศจากโรคภัยเบียดเบียนในระยะยาว

ไม่ว่าจะด้านดีหรือร้ายก็ตาม โดยรวมแล้วฮอร์โมนมีผลดีและเสียต่อร่างกายของเราดังต่อไปนี้

  • กระตุ้นหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย
  • มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอารมณ์
  • ทำให้เกิดหรือยับยั้งกระบวนการตายของเซลล์ (มีผลต่ออายุของเซลล์นั่นเอง)
  • กระตุ้นหรือยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ปรับความสมดุลของระบบเผาผลาญอาหาร
  • มีผลต่อการปรับร่างกายให้พร้อมต่อการต่อสู้
  • มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ของร่างกาย
  • มีผลต่อความรู้สึกหิว กระหายน้ำ ต่างๆ
  • มีผลต่อความรู้สึกทางเพศ

ฮอร์โมนชนิดหนึ่งอาจจะมีผลต่อการสร้างหรือระดับของฮอร์โมนชนิดอื่นได้ สัญญาณของฮอร์โมนควบคุมสิ่งแวดล้อมภายในของร่างกายผ่านกระบวนการสมดุลทางคุณสมบัติเคมีและฟิสิกส์ของเหลวในร่างกาย และเมื่อพอจะรู้จักว่าเจ้าฮอร์โมนมีบทบาทอย่างไรกันแล้ เรามาดูกันดีกว่านะคะว่า ฮอร์โมนบางอย่างที่เราอาจจะไม่ค่อยรู้จักกันนัก ที่จะยกเป็นตัยวอย่างในบทความนี้นั้น สำคัญต่อร่างกายอย่างไร

1) เมลาโทนิน (Melatonin)

เราเคยได้ยินชื่อของฮอร์โมนนี้มแล้วในบทความเรื่อง มหัศจรรย์เมลาโทนิน ซึ่งทำให้เราทราบว่าเป็นฮอร์โมนที่จะสร้างขึ้นเมื่อเราหลับ หรือหลับตา และฮอร์โมนนี้มีผลทำให้เราง่วงและนอนหลับ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือมันมีส่วนในการควบคุมการตื่นและการหลับของเรา จากงานวิจัยบางอย่างบอกว่า หากสาวๆ มีฮอร์โมนนี้น้อยเกินไป อาจจะมีผลเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้นในวัยหมดประจำเดือน รู้อย่างนี้แล้วสาวๆ อาจจะถามว่าแล้วจทำอย่างไรจึงจะมีระดับของฮอร์โมนนี้เพียงพอ ก็ทำได้สองอย่างคือ ออกกำลังกายเป็นประจำ คือครั้งละ 40-60 นาที เป็นเวลา 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ และในวันที่ไม่ได้ออกกำลังกาย ก็ควรจะใช้พลังงานให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวกันบ้าง เช่นเดินเล่น ทำสวน ขี่จักรยานเล่น แหม จะเดินช็อปปิ้งด้วยก็ไม่ผิดกติกาอะไรนะ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ควรจะนอนหลับเป็นเวลา เช่นไม่เกินเที่ยงคืน และพยายามทำให้ห้องนอนมืดสักหน่อย เพราะร่างกายจะสังเคราะห์ฮอร์โมนชนิดนี้ได้ดีเมื่อเราได้หลับตาในที่มืดๆ นะคะ

2) คอร์ติซอล (Cortisol)

เวลาเราพูดถึงฮอร์โมน ก็มักจะได้ยินแต่ด้านดีของมัน เช่นต้องมีพอสมควรไม่น้อยเกินไปจึงจะดี เป็นต้น แต่สำหรับเจ้าฮอร์โมนที่มีชื่อว่า คอร์ติซอลแล้ว เราคงไม่อยากจะมีมันมากเท่าไรในตัวเรา เนื่องจากว่ามันเป็นฮอร์โมนที่จะได้รับการปลดปล่อยออกมาเมื่อร่างกายเกิดความเครียด สำหรับสาวๆ เราแล้ว ถ้าร่างกายหลั่งฮอร์โมนนี้ออกมามากๆ เป็นเวลาติดต่อกันนานๆ จะทำให้ประจำเดือนผิดปกติได้ และสำหรับบรรดาสุภาพบุรุษทั้งหลาย ก็จะทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง เรียกว่าไม่ดีเอาเลยจริงไหมล่ะคะ ทีนี้เราจะลดเจ้าฮอร์โมนชนิดนี้ได้อย่างไรล่ะ วิธีก็ไม่ยาก คือต้องจัดการกับความเครียดนั่นเอง พยายามทำจิตใจให้ผ่องใส อาจจะมีการนวดบีบคลายเส้นเพื่อลดความเครียดบ้าง รวมทั้งหาเรื่องที่สนุกๆ น่ารื่นรมย์ทำบ้าง บางคนถึงกับหัดหัวเราะเป็นประจำ โดยการดูหนังตลก หรืออ่านหนังสือตลก ก็สามารถลดระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอลลงได้ 30-40% เชียวนะคะ

3) ออกซิโทซิน (Oxytocin)

ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเพื่อนคู่กัดของคอร์ติซอลหรือไม่อย่างไรนะคะ แต่มีผลการวิจัยบางอย่างบอกว่า ฮอร์โมนชนิดนี้มีผลช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลลงได้อย่างรวดเร็ว เป็นที่โชคดีหน่อยที่ว่าเราคงไม่ต้องไปพยายามหายาที่เป็นฮอร์โมนนี้มารับประทาน เพราะว่ามีวิธีที่จะทำให้ร่างกายสร้างมันขึ้นมได้ฟรีๆ อย่างแรกก็คือ เม้าท์ค่ะ (ไม่ทราบว่านี่เป็นสาเหตุทำให้ สาวเรา เม้าท์แตกเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง หรือเปล่านะคะ) การที่เราได้พูดคุยกับเพื่อนสาวๆ ด้วยกัน ในเรื่องที่เราสนใจร่วมกันและมีความสุขในการคุย ก็เป็นการสร้างฮอร์โมนนี้ในร่างกายขึ้นได้ การพูดคุยนี้อาจจะโดยการเจอตัวเป็นๆ หรือจะโทรศัพท์คุยกันอย่างออกรสชาติก็ไม่ผิดอะไรค่ะ อีกวิธีหนึ่งที่อาจจะฟังดูพิสดารหน่อยก็คือ การกอด ค่ะ การกอดใครสักคนที่เรารู้สึกเป็นสุขเมื่อได้อยู่ใกล้ชิดก็เป็นการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนนี้ออกมา แหม ถึงว่าไงคะว่า ตอนกอดใครสักคน ความกังวลมันหายไปเร็วเหลือเกิน

เมื่อทราบที่มาที่ไปของฮอร์โมนทั้งหลายแล้ว อย่าลืมรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ก็จะทำให้เรามีความสุขในโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ (ก็ โลกมันไม่กลมนี่นา คุณครูสอนไว้ตอนเด็กๆ) ไปได้นานๆ นะคะ