ของที่สาวๆ เราสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มีหลากหลายรูปแบบนะคะ ก่อนจะคิดเรื่องการนำของไปรีไซเคิล (recycle) ก็ยังมีการ รียูส (reuse) คือใช้ซ้ำด้วย การใช้ซ้ำนี่เป็นการประหยัดและช่วยสิ่งแวดล้อมเอามากๆ เลยล่ะ ตัวอย่างเช่นถ้าเราใช้แก้วน้ำ ถ้วย ช้อน พลาสติก เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งไป กับถ้าเราเอามาใช้ซ้ำสักสองหรือสามรอบ เพียงเท่านี้เราก็ประหยัดพลังงาน ประหยัดเม็ดพลาสติกที่จะต้องทำภาชนะพวกนั้นขึ้นมาใหม่ได้ตั้งสองสามเท่าแล้ว โดยไม่ต้องลงแรงอะไรนักจริงไหมคะ (เอ่อ... ก็ลงแรงล้างมันหน่อยนั่นแหละค่ะ อิอิ)
ทีนี้ถ้าเราใช้ของเหล่านั้นจนคุ้มและสาแก่ใจแล้ว (ไปแค้นใครมาเนี่ย) เราก็คงต้องจำยอมโยนทิ้งไป เมื่อก่อนเราก็อาจจะเพียงรวมๆ ใส่ในถุงขยะรวมกับของอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเศษอาหาร เศษผ้า สิ่งต่างๆ ที่เอาไปวนใช้รีไซเคิลไม่ได้ แต่ถ้าเราแยกมันออกจากกัน แล้วรวมสิ่งที่สามารถเอาไปรีไซเคิลได้ไว้ในถุงหนึ่ง เอาไปโยนลงถังขยะรีไซเคิล เขาก็จะเอาชิ้นส่วนที่เราใช้แล้วไปหลอม ละลาย ปลุก ปั้น ฉีด เป่า จนเป็นของใช้ใหม่ๆ ให้เราใช้ได้อีกโดยไม่ต้องไปขุดทรัพยากรออกมาจากใต้โลกนี้มากนัก
ทีนี้มันก็มีเรื่องตรงที่ว่า บางทีสาวๆ เรา (หนุ่มๆ ด้วยแหละ ตัวดี แอบนินทาเสียเลย) เกิดความไม่แน่ใจว่าของอะไรมันจะรีไซเคิลได้ไหม หลังจากยืนงงๆ นั่งมึนๆ กับการแยกขยะ แล้วเราก็จับของที่ไม่แน่ใจนั่นโยนใส่กองรีไซเคิลไป โดยหวังว่ามันน่าจะถูกเอาไปรีไซเคิลได้ หรือแบบ เอาน่ะ ถ้าไม่ได้ประเดี๋ยวคงมีใครสักคน เครื่องจักรสักชนิด มาจับแยกออกไปจากของที่รีไซเคิลจริงๆ ได้ ว่าแล้วก็ โล่งอก การทำอย่างนั้นทำให้เราที่เป็นสาวสวย กลายเป็นสาวสวยและเป็น Wish-cycler ไปด้วยในตัว (แง..)
อ๊ะ! แต่ที่จริงแล้วนั่นเป็นการทำร้ายอุตสาหกรรมการรีไซเคิลได้เลยทีเดียว เพราะความเป็นจริงแล้ว "ใครสักคน" หรือ "เครื่องจักรสักชนิด" ที่จะแยกของที่รีไซเคิลไม่ได้ออกทิ้งไปนั้น "ไม่มี" หรือไม่ก็ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะทำได้ ทำให้การรีไซเคิลวัสดุต่างๆ เป็นไปได้ด้วยความยาก ลำบาก กล้ำกลืน ฝืนทน (อันนี้เพื่อให้เห็นภาพเท่านั้น อิอิ) ดังนั้นที่จริงแล้ว ถ้าเราไม่แน่ใจว่าอะไรรีไซเคิลได้จริงๆ แล้ว เราควรโยนมันลงไปในถังขยะประเภท "ขยะธรรมดา" นะคะ อย่าไปใส่ในถังรีไซเคิลนะคะสาวๆ
สรุป
- คำว่า wish-cycling คือการที่คนเราเอาของทิ้งไปในถังขยะประเภทรีไซเคิลได้ โดยหวังว่ามันจะถูกรีไซเคิลได้จริงๆ และแม้แต่ไม่ได้ก็หวังว่าจะมีคนแยกมันออกไปได้ (ซึ่งไม่ได้) โดย wish ก็แปลว่า "หวัง" นั่นเอง
- ถ้าเราไม่แน่ใจว่าของใดจะถูกรีไซเคิลได้จริงๆ แล้วเราโยนผิดลงไปในถังรีไซเคิล เราก็จะกลายเป็น wish-cycler ไปในบัดดล
- ถ้าไม่มั่นใจว่าของใดจะรีไซเคิลได้จริงๆ ขอให้ใส่ลงในถังขยะธรรมดาค่ะ